ผลกระทบทางภาษีจากกรณีเปลี่ยนแปลงปีภาษีในประเทศเมียนมา
Thailand Tax Updates - 31 October 2019
ประเทศเมียนมาได้มีการเปลี่ยนแปลงปีภาษีจากเดิมเริ่ม 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคม มาเป็น 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน โดยมีรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร และสถานบันทางการเงิน ได้เริ่มเปลี่ยนปีภาษีนับแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สำหรับผู้เสียภาษีทั่วไปนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ปีภาษีใหม่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563
ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงการคลังและการวางแผนของประเทศเมียนมา จึงได้ออกประกาศ ฉบับที่ 64/2019 ลง วันที่ 5 สิงหาคม 2562 เกี่ยวกับวิธีการคำนวณภาษีสำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนปีภาษีเป็นระยะเวลา 6 เดือนกล่าวคือ ช่วงเวลาระหว่าง 1 เมษายน 2562 ถึง 30 กันยายน 2562 อันส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีที่ต้องชำระภาษี อันได้แก่
- ภาษีสินค้าเฉพาะ (Specific goods tax)
- ภาษีการค้า (Commercial tax)
- ภาษีเงินได้ (Income tax)
ภาษีสินค้าเฉพาะ และภาษีการค้า
ผู้เสียภาษีจะต้องนำเงินได้ที่ต้องเสียภาษีสินค้าเฉพาะมาคูณด้วยสอง หากเงินได้ดังกล่าวมีจำนวนเกิน 20 ล้านจ๊าด ผู้เสียภาษีจะต้องนำเงินได้นั้นมาเสียภาษีสินค้าเฉพาะ
ในกรณีภาษีการค้า วิธีการคำนวณเช่นเดียวกับภาษีสินค้าเฉพาะข้างต้น ผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีการค้าหากเงินได้ที่ต้องภาษีการค้า (ที่คูณด้วยสองแล้ว) มีจำนวนเกิน 50 ล้านจ๊าด
การคิดคำนวณเงินได้เป็นสองเท่าดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสินค้าเฉพาะ/ภาษีสินค้า สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 6 เดือน หากเงินได้สองเท่านั้นมีจำนวนเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ภาษีเงินได้
หลักเกณฑ์สำคัญสำหรับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1. เงินได้ที่เกิดขึ้นจากการจ้างงาน
ผู้เสียเงินได้จะต้องนำเงินได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 6 เดือน คูณด้วยสอง ก่อนที่จะนำมาคำนวณอัตราภาษี เงินภาษีที่คำนวณได้จะถูกนำมาหารครึ่งสำหรับรอบปีภาษีดังกล่าว
นอกจากนี้ เงินได้สองเท่ายังนำมาใช้กับการรับรู้รายได้ประเภทเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายครั้งเดียวและโบนัส ซึ่งอาจส่งผลให้เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้เสียภาษีซึ่งได้รับเงินได้เป็นครั้งคราว
2. เงินได้ทางธุรกิจ
บริษัท และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำรายจ่าย (ที่ไม่ใช่รายจ่ายที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และเงินบริจาค) มาหักกับเงินได้ตามหลักเกณฑ์ปกติ แล้วนำมาคูณด้วยสอง จากนั้นนำมาหักกับค่าหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ย และค่าบริจาค ตามที่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เงินภาษีที่คำนวณได้จะถูกนำมาหารครึ่งสำหรับรอบปีภาษีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี มีประเด็นในการพิจารณาเกี่ยวกับการคำนวณดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น กรณีดอกเบี้ยและเงินบริจาคที่นำมาหักได้ตามที่จ่ายจริงในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ในขณะที่เงินได้กลับคิดเป็นสองเท่า
นอกจากนี้ ประกาศฉบับที่ 64/2019 ยังมิได้กล่าวถึงกรณีผลขาดทุนว่าบริษัทจะสามารถนำผลขาดทุนสุทธิยกไปคำนวณในรอบปีภาษีถัดไปได้หรือไม่
3. ถิ่นที่อยู่ของบุคคลธรรมดา
บุคคลใดที่มีระยะเวลาที่อยู่ในประเทศเมียนมาในช่วง 6 เดือน หลังจากคูณด้วยสองแล้วมีมากกว่า 183 วัน บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรอบปีภาษีดังกล่าว
วิธีการพิจารณาการเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เบื้องต้นก่อให้เกิดปัญหาแก่บุคคลธรรมดาซึ่งจะเดินทางออกจากประเทศเมียนมาระหว่าง 6 เดือน แต่ระยะเวลาที่อยู่มีมากกว่า 92 วัน ในรอบปีภาษีนั้น อันส่งผลให้กลายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมา หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงอาจไม่เป็นธรรมในการคิดคำนวณภาษี และกรมสรรพากรก็ได้รับทราบถึงประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ กรมสรรพากรอาจออกคำอธิบายเพิ่มเติมก่อนที่กำหนดระยะเวลาในการยื่นภาษีจะสิ้นสุดลง
นอกจากกรณีที่กล่าวมาโดยสังเขปข้างต้น ยังอาจมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการคำนวณภาษีในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจาก ประกาศฉบับที่ 64/2019 ยังคงมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการคำนวณทางภาษีอีกหลายประการ ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีจึงควรระมัดระวังและติดตามข่าวสารจากกรมสรรพากรเพื่อจะได้สามารถคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้อง
อนึ่ง เคพีเอ็มจีมีสำนักงานตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งมีบุคลากรผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำและยื่นแบบแดวรายการเพื่อเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรม ภาษีการค้า และภาษีอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายภาษีกำหนดไว้ อีกทั้งยังให้คำปรึกษาทางด้านภาษี รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางภาษีแก่ผู้เสียภาษีอีกด้วย
Connect with us
- Find office locations kpmg.findOfficeLocations
- kpmg.emailUs
- Social media @ KPMG kpmg.socialMedia