เวียดนามจะจัดเก็บภาษีจากธุรกิจ e-commerce ต่างชาติ

Thailand Tax Updates - 24 July 2019

ในปัจจุบันกระแสการค้าขาย e-commerce ของต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทำให้หลาย ๆ ประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายภายในที่จะจัดเก็บภาษีจากธุรกิจ e-commerce ต่างชาติที่ไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศได้ เริ่มทบทวนกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกิจ e-commerce ต่างชาติที่ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านเล็กทรอนิกส์โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาประกอบกิจการในประเทศนั้น ๆ 

เวียดนามจะจัดเก็บภาษีจากธุรกิจ e-commerce ต่างชาติ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา เวียดนามได้ผ่านกฎหมายใหม่ที่ออกมาเพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมซื้อขายและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่หรือสถานประกอบการในเวียดนามกรณีขายสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัลและในรูปแบบ e-commerce ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่ในเวียดนาม  โดยกฎหมายใหม่จะใช้บังคับกับธุรกรรมที่เป็นธุรกรรมที่มีการชำระเงินข้ามประเทศ (cross-border payment) โดยเฉพาะการชำระเงินโดยผู้จ่ายที่เป็นบุคคลธรรมดาและอาจจะหน่วยอื่น ๆ ในเวียดนามที่กฎหมายจะกำหนด ให้แก่ผู้รับที่ประกอบกิจการซื้อขายและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนามและไม่ได้จดทะเบียนเป็นหน่วยภาษีหรือไม่ได้ชำระภาษีใด ๆ ในเวียดนาม เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเก็บภาษีจากกิจการต่างชาติที่กฎหมายปัจจุบันไม่สามารถบังคับจัดเก็บได้  

ถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่ในประเทศการเสียภาษีของธุรกิจ e-commerce มักไม่แตกต่างกับผู้ประกอบการทั่วไปในประเทศ กฎหมายใหม่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างชาติที่มีธุรกรรมและอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีดังกล่าวต้องจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีในเวียดนามหรือแต่งตั้งให้ผู้อื่นดำเนินการแทนภายใต้กฎระเบียบของกระทรวงการคลังที่จะออกมา ซึ่งเป็นไปได้ว่าอย่างน้อยจะเป็นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม วิธีการในการเก็บภาษีคาดว่าจะเป็นการจัดเก็บโดยการให้หักภาษีเมื่อมีการชำระเงินไปให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ ดังนั้นภาระการจัดเก็บภาษีจะอยู่ที่สถาบันการเงินซึ่งในปัจจุบันมีหน้าที่ต้องรายงาน และ จัดเก็บภาษีบางประเภทอยู่แล้ว ดังนั้นสถาบันการเงินในเวียดนามจะต้องพิจารณาว่ามีธุรกรรมใดบ้างที่จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้และมีหน้าที่ที่จะต้องจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศดังกล่าว กฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้คาดว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติม 

ผู้ประกอบกิจการไทยที่ขายสินค้าหรือบริการดิจิตอล หรือ e-commerce จากประเทศไทยโดยที่ไม่ได้เข้าไปประกอบกิจการหรือจดทะเบียนใด ๆ ในเวียดนาม โดยเฉพาะกรณีขายให้แก่บุคคลธรรมดาในเวียดนาม ควรจะต้องติดตามและพิจารณาว่ากฎหมายใหม่ดังกล่าวจะกระทบกับธุรกิจตนอย่างไร และมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนในเวียดนามอะไรบ้างอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของเวียดนาม และผลกระทบที่ตามมาทั้งในเรื่องการมีหน้าที่ชำระภาษี และเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของเวียดนามคือร้อยละ 10 และภาษีเงินได้นิติบุคคลคือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ 

ประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายที่จะจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ดำเนินการโดย ผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศเช่นกัน อย่างทีทราบแล้วว่าเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้วคณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ในเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่นอกประเทศไทยซึ่งประกอบกิจการให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร   ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่หลาย ๆ ประเทศจะจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศนั้น ๆ เลยมีเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบกิจการไทยที่ขายสินค้าหรือบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เนื่องจากการค้าขายไร้พรมแดนทำให้ผู้ซื้อไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ผู้ประกอบกิจการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอาจต้องจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีในหลาย ๆ ประเทศแม้ว่าจะไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศนั้น ๆ เลยก็ตาม ซึ่งก็จะตามมาทั้งภาระในการเสียภาษีและต้นทุนในการจัดการที่ควรต้องเตรียมการรองรับต่อไป