ภาระภาษีที่พนักงานไทยควรรู้เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศเมียนมา
Thailand Tax Updates - 30 May 2019
เมื่อพนักงานไทย (รวมถึงพนักงานต่างประเทศ) ถูกบริษัทส่งไปทำงานในประเทศเมียนมา ไม่ว่าทำงานแบบชั่วระยะเวลาสั้นๆ หรือแบบระยะยาว นอกจากที่พนักงานจะต้องเตรียมตัวไม่ว่าจะทางด้านภาษา วัฒนธรรม และการทำวีซ่าเพื่อไปทำงานแล้ว ภาระภาษีที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการทำงานในประเทศเมียนมาก็เป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานไทยควรรู้ เพราะมีผลต่อรายได้ที่พนักงานจะได้รับหลังจากถูกหักภาษีดังกล่าว
ประเด็นหลักที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้จากการทำงานให้นายจ้างในประเทศเมียนมามีดังต่อไปนี้
1. การเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษี
การเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีของประเทศเมียนมา จะพิจารณาจากระยะเวลาการเข้ามาทำงานในประเทศเมียนมาทั้งหมดในรอบปีภาษี หากพนักงานอยู่ในประเทศเมียนมาตั้งแต่ตั้งแต่ 183 วัน ขึ้นไป ในปีที่มีเงินได้ ในรอบปีภาษีใดๆ พนักงานดังกล่าวจะถือเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมาในรอบปีภาษีนั้นทันที
ปัจจุบัน กรณีบุคคลธรรมดา รอบปีภาษีของประเทศเมียนมาเริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี
2. เงินได้ในการคำนวณภาษี
ในกรณีที่พนักงานที่มีสถานะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมา เงินได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นในหรือนอกประเทศเมียนมาที่พนักงานได้รับในรอบปีภาษีนั้น จะถูกมารวมเป็นฐานภาษีเพื่อคำนวณเสียภาษีในประเทศพม่า (Worldwide sourced income)
ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่มิได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมาอันเนื่องจากการอยู่ในประเทศเมียนมาระยะเวลาทั้งหมดน้อยกว่า 183 วัน ในรอบปีภาษี จะถูกจัดเก็บภาษีเฉพาะจากเงินได้ที่พนักงานได้รับอันเนื่องจากการทำงานในเมียนมาเท่านั้น (Myanmar sourced income)
ในทางปฏิบัติ เงินได้บางประเภทเจ้าหน้าที่สรรพากรของเมียนมาอาจเห็นว่าเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น ค่าที่พักของลูกจ้างโดยนายจ้างได้ทำสัญญากับผู้ให้เช่าและชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรง หรือค่าเดินทางที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตามจริง เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมาอาจหักค่าลดหย่อนตามอัตราที่กำหนดในตาราง ดังต่อไปนี้
ประเภทค่าลดหย่อน |
จำนวนค่าลดหย่อน (จ๊าด) |
ผู้มีเงินได้ |
ร้อยละ 20 ของเงินได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 10 ล้าน (ประมาณ 200,000 บาท) |
คู่สมรส |
1,000,000 (ประมาณ 20,000 บาท) |
บุตร (ต่อคน) |
500,000 (ประมาณ 10,000 บาท) |
บิดามารดา (ต่อคน) |
1,000,000 (ประมาณ 20,000 บาท) |
4. อัตราภาษี
ประเทศเมียนมาจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า ดังต่อไปนี้
เงินได้ (จ๊าด) |
อัตราภาษี |
1 – 2,0000,000 |
0% |
2,0000,001 - 5,0000,000 |
5% |
5,0000,001 - 10,0000,000 |
10% |
10,0000,001 - 20,0000,000 |
15% |
20,0000,001 - 30,0000,000 |
20% |
ตั้งแต่ 30,0000,001 ขึ้นไป |
25% |
5. ผู้มีหน้าที่ยื่นภาษี
นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีแทนลูกจ้างภายในวันที่ 7 นับจากวันที่หักภาษีจากเงินเดือนของลูกจ้าง อีกทั้งยื่นแบบภาษีเงินได้แบบรายปีของลูกจ้างภายใน 3 เดือน เมื่อสิ้นรอบปีภาษี ในกรณีที่ลูกจ้างมีเงินได้จากการทำงานให้แก่นายจ้างเพียงอย่างเดียว ลูกจ้างดังกล่าวไม่จำเป็นต้องยื่นแบบภาษีเองแต่อย่างใด
ในทางปฏิบัติ นายจ้างอาจยื่นเสียภาษีเป็นรายไตรมาส (ภายใน 7 วันของทุกๆ สามเดือน) เมื่อได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่สรรพากรในเขตพื้นที่ซี่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่
6. สิทธิประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน
ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศเมียนมามีอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างกัน ภายใต้ข้อ 15 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนดังกล่าว ภาษีที่จัดเก็บจากเงินได้อันเนื่องการจ้างงานอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศเมียนมา หากปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดที่อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดไว้ และได้รับการรับรองสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่สรรพากรของเมียนมาอีกด้วย ดังนั้น นายจ้างในฐานะตัวแทนของลูกจ้างจะต้องยื่นคำขอ พร้อมทั้งเอกสารประกอบ เช่น สัญญาจ้างงาน รายละเอียดระยะเวลาการเข้ามาทำงานของลูกจ้าง และหนังสือยื่นยันการเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในรอบปีภาษีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ไปยังเจ้าหน้าที่สรรพากรของเมียนมาโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ลูกจ้างควรได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดไว้หรือไม่ และตอบกลับไปยังนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะอนุมัติให้ลูกจ้างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศเมียนมาหรือไม่
จากที่กล่าวมาข้างต้น พนักงานไทยรวมถึงนายจ้างควรทำความเข้าใจภาระภาษีที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาอันเนื่องมาจากการที่ลูกจ้างเข้าไปทำงานในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะระยะเวลาที่เข้าไปทำงานและอยู่ในประเทศเมียนมาเนื่องจากจะมีผลต่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาอีกด้วย
Connect with us
- Find office locations kpmg.findOfficeLocations
- kpmg.emailUs
- Social media @ KPMG kpmg.socialMedia