การเครดิตภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

Thailand Tax Updates - 25 June 2019

การที่กิจการมีการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการประกอบกิจการข้ามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาไปในต่างประเทศหรือเข้าไปตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการในต่างประเทศ เมื่อมีรายได้หรือกำไรในหรือจากต่างประเทศ  ย่อมก่อให้เกิดภาระภาษีในประเทศนั้นๆ และอาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศเนื่องจากเงินได้หรือรายได้จำนวนเดียวกันอาจถูกนำมาเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีมากกว่าหนึ่งประเทศ

Mutual funds will soon start being subject to income tax at 15%

การเกิดภาษีซ้ำซ้อนสามารถขจัดได้ตาม อนุสัญญาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน  (อนุสัญญาภาษีซ้อน ) วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาภาษีซ้อนคือการขจัดสภาวะการเก็บภาษีซ้ำซ้อนโดยยอมให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีสิทธิเก็บภาษี แต่มิได้มุ่งหมายให้กิจการได้รับยกเว้นภาษีทั้งสองประเทศ  อย่างไรก็ดีในกรณีเงินได้หรือกำไรต้องเสียภาษีทั้งสองประเทศ  อนุสัญญาภาษีซ้อนจะกำหนดให้มีการขจัดภาษีซ้อนหรือบรรเทาภาระภาษีโดยการเครดิตภาษี กล่าวคือสามารถนำภาษีที่เสียในประเทศหนึ่งไปเป็นเครดิตภาษีในอีกประเทศได้  ทั้งนี้โดยทั่วไปวิธีการเครดิตจะมีการกำหนดไว้ในอนุสัญญาภาษีซ้อนซึ่งบางอนุสัญญาภาษีซ้อนมีมากกว่าหนึ่งวิธี

วิธีที่จัดว่าเป็นมาตรฐานคือการที่ยอมให้นำภาษีที่ชำระในประเทศหนึ่งสำหรับเงินได้หรือกำไรที่รับในปะเทศนั้นไปเครดิตหักออกจากภาษีที่จะต้องชำระในอีกประเทศหนึ่งในเงินได้หรือกำไรจำนวนเดียวกันเท่าที่จำนวนภาษีที่ได้จ่ายไปจริงในประเทศแรก แต่ต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่จะต้องชำระในอีกประเทศหนึ่งที่ได้คำนวณจากเงินได้หรือกำไรจำนวนเดียวกันดังกล่าว หรือเรียกง่ายๆว่าวิธีเครดิตแบบธรรมดา  ยกตัวอย่างเช่น บริษัทไทยมีสาขาในอินโดนีเซีย  สาขาดำเนินกิจการในอินโดนีเซียมีรายได้และเสียภาษีเงินได้ในอินโดนีเซียที่อัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิของสาขา  เนื่องจากเป็นสาขาของบริษัทไทย บริษัทไทยต้องนำกำไรของสาขามารวมเพื่อเสียภาษีในไทยที่อัตราร้อยละ 20 ด้วย ด้วยวิธีเครดิตแบบธรรมดาบริษัทไทยจะสามารถนำภาษีที่จ่ายที่อินโดนีเซียมาเครดิตภาษีไทยได้เพียงไม่เกินภาษีไทยคือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิของสาขาและไม่สามารถขอคืนส่วนต่างได้ ในทางกลับกันถ้าเป็นสาขาของบริษัทไทยในสิงคโปร์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ที่สิงคโปร์ในอัตราร้อยละ 17 ของกำไรสุทธิของสาขา บริษัทไทยสามารถนำภาษีที่ชำระจริงในสิงคโปร์มาเครดิตภาษีไทยได้ทั้งจำนวนเนื่องจากอัตราภาษีของสิงคโปร์ไม่เกินภาษีที่ต้องชำระในไทยคือร้อยละ 20   ทั้งนี้หลักการเครดิตภาษีด้วยวิธีการเครดิตแบบธรรมดาได้มีการกำหนดไว้ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำกับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ( ยกเว้นบรูไนที่ไทยยังไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนด้วย )

นอกจากนี้ในอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศสมาชิกยังมีวิธีการเครดิตภาษีอีกวิธีหนึ่งคือ  Tax sparing credit  วิธีการที่เรียกว่า Tax sparing credit คือ การยอมให้ภาษีที่พึงชำระแต่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนตามกฎหมายจูงใจหรือส่งเสริมการลงทุนมาถือเป็นเครดิตภาษีได้ เช่น ไทยให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทในเวียดนามที่มาลงทุนในไทย เมื่อบริษัทในไทยส่งเงินปันผลกลับไปให้ผู้ถือหุ้นในเวียดนามได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในไทยเงินปันผลดังกล่าวจึงไม่ถูกหักภาษีไทยร้อยละ 10 แต่บริษัทผู้ถือหุ้นเวียดนามยังคงต้องนำเงินปันผลรับจากไทยดังกล่าวไปเสียภาษีเวียดนาม วิธีของ Tax sparing credit ก็คือยอมให้บริษัทผู้ถือหุ้นเวียดนามเครดิตภาษีในอัตราร้อยละ 10 ตามภาษีไทยแม้จะได้รับการยกเว้นก็ตาม   บางอนุสัญญาภาษีซ้อนยังมีวิธีการเครดิตภาษีที่แยกย่อยในวิธีอื่นๆ อีก เช่นในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับมาเลเซียกรณีเงินได้ประเภทเงินปันผลหากเป็นการจ่ายเงินปันผลที่จ่ายให้บริษัทที่ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลจะได้รับ underlying credit  วิธีคิดเครดิตภาษีแบบ underlying credit ก็คือนอกจากบริษัทมาเลเซียจะนำภาษีไทยที่ถูกหักจากเงินปันผลร้อยละ 10 ไปเป็นเครดิตภาษีในมาเลเซียได้แล้วยังสามารถนำภาษีไทยที่จ่ายโดยบริษัทไทยไปเป็นเครดิตภาษีได้อีกตามสัดส่วนของการถือหุ้น เนื่องจากอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดวิธีการในการเครดิตภาษีที่อาจจะแตกต่างกันหรือมีเงื่อนไขเฉพาะกรณี ดังนั้นการใช้วิธีเครดิตภาษีกิจการจะต้องศึกษาข้อกำหนดของอนุสัญญาภาษีซ้อนเป็นรายประเทศ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงกฎภายในประเทศด้วย เช่นไทยจะให้เครดิตเฉพาะภาษีที่ได้ชำระแล้วในรอบเดียวกับที่บันทึกรายได้  ในอินโดนีเซียมีการกำหนดว่าถ้าอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้เงินได้ประเภทใดต้องเสียภาษีเฉพาะในอินโดนีเซียจะไม่สามารถใช้เครดิตภาษีได้ เป็นต้น

Connect with us