ซีอีโอธุรกิจธนาคารเดิมพันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่แม้มีช่องว่างทางทักษะ
ซีอีโอภาคธนาคารแสดงความมั่นใจในการเติบโตของอุตสาหกรรม ในขณะที่ต้องรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีและบุคลากร
ซีอีโอภาคธนาคารแสดงความมั่นใจในการเติบโตของอุตสาหกรรม ในขณะที่ต้องรับมือกับความท้าทาย
EN | TH
- สองในสามของซีอีโอธุรกิจธนาคารมีความมั่นใจในแนวโน้มการเติบโตในสามปีข้างหน้าของภาคธนาคารและตลาดทุน
- ร้อยละ 81 กล่าวว่า Generative AI (Gen AI) เป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรของตนให้ความสำคัญในการลงทุนมากที่สุด
- การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางยังคงเป็นข้อกังวลหลักในการผลักดันการปฏิรูปทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
- ร้อยละ 81 ระบุว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นปัจจัยสำคัญน่าจะส่งผลเสียต่อการเติบโตขององค์กรในช่วงสามปีข้างหน้า
- ร้อยละ 58 คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนใน ESG ในสามถึงห้าปีข้างหน้านี้
กรุงเทพฯ 9 มกราคม 2568 – การสำรวจซีอีโอภาคธนาคารจำนวน 120 คนจากทั่วโลกชี้ว่า ซีอีโอมั่นใจในศักยภาพการเติบโตขององค์กรของตน และกำลังเดิมพันกับการลงทุนครั้งใหญ่ในเทคโนโลยีเกิดใหม่
การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจีในระดับโลกซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่สิบแสดงให้เห็นว่า ซีอีโอภาคธนาคารร้อยละ 66 มั่นใจในแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมธนาคารและตลาดทุนในสามปีข้างหน้า ร้อยละ 81 บอกว่า Gen AI เป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรของตนให้ความสำคัญในการลงทุนมากที่สุด แม้ว่าจะเจอกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พวกเขามองว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่นี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการปฏิรูปธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางและประเด็นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับผู้บริหาร เนื่องจากอุตสาหกรรมพยายามที่จะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิรูปธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มหภาค ร้อยละ 81 รายงานว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นปัจจัยหลักที่น่าจะส่งผลเสียต่อการเติบโตขององค์กรในสามปีข้างหน้า
ความยั่งยืนยังคงเป็นวาระสำคัญในอันดับต้น ๆ ของแผนงาน โดยซีอีโอยังคงมองว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการลงทุนของธนาคาร ร้อยละ 58 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนใน ESG อย่างมีนัยสำคัญในสามถึงห้าปีข้างหน้านี้
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นความเชื่อมั่นของผู้นำอุตสาหกรรมที่มีต่อแนวโน้มของภาคธนาคารทั่วโลก รวมไปถึงความเต็มใจของพวกเขาที่จะพัฒนาและนำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาใช้ ดูเหมือนว่าซีอีโอจะมุ่งมั่นกับการเร่งโครงการปฏิรูปทางดิจิทัลที่จะมาสนับสนุนการเติบโตตามที่พวกเขาได้คาดหวังไว้ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่น ๆ เห็นได้ชัดเจนถึงช่องว่างของทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุการปฏิรูปทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ ธนาคารต้องแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะและความสามารถใหม่ ๆ ในตลาดปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย ซีอีโอที่กล้าวางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะและทำให้แผนการเป็นจริงได้จะสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
ฟรานซิสโก้ อูเรีย
หัวหน้าฝ่ายธนาคารและตลาดทุนระดับโลก
เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
หัวหน้าฝ่ายธนาคารและตลาดทุนระดับโลก
เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคธนาคารไทยในระยะสั้น แต่ยังมีสิ่งที่ทำให้เราสามารถมองแนวโน้มระยะยาวในทิศทางบวกได้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการใช้งบดุลที่แข็งแกร่งเพื่อการขยายตัวในระดับภูมิภาค อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของบริการด้านการบริหารความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากสังคมผู้สูงอายุที่เปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าไปสู่การวางแผนการเงินในระยะยาว การปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม SME และผู้บริโภคที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมโดยใช้โมเดลการประเมินเครดิตที่ทันสมัยพร้อมแหล่งข้อมูลทางเลือก รวมไปถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับ “การเปลี่ยนผ่านสีเขียว” (green transition) อีกด้วย
ในแง่ของวาระเกี่ยวกับความเสี่ยง เรายังคงเห็นการลงทุนที่สำคัญในด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ผ่านการยกระดับแพลตฟอร์มหลักของธนาคารและขีดความสามารถด้านข้อมูล ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้าของธนาคารมากขึ้น โดยการสำรวจความเป็นเลิศด้านการมอบประสบการณ์แก่ลูกค้า (Customer Experience Excellence) ในปี 2567 ของเราพบว่ามีธนาคารถูกจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ เป็นจำนวนมาก กลยุทธ์ AI ที่มีประสิทธิผลเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยึดแนวทางที่มุ่งเน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในอนาคตจะถูกฝึกฝนและพัฒนาไปในแนวทางที่ส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญขององค์กร โดยธนาคารอาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปทางไซเบอร์ในหลาย ๆ ส่วน เช่น การจัดการการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารยังคงได้รับความไว้วางใจ
คริสโตเฟอร์ ซาวน์เดอร์ส
หุ้นส่วน หัวหน้าฝ่ายปรึกษาธุรกิจ
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
หุ้นส่วน หัวหน้าฝ่ายปรึกษาธุรกิจ
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจซีอีโอในภาคธนาคาร ปี 2567 ของเคพีเอ็มจี ได้ที่ https://bit.ly/2024BankingCEOoutlook
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 142 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 275,000 คน บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ kpmg.com/governance
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,500 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กร เอกชน จำกัด ในอังกฤษ
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:
ณิชากร พัฒนาถาวร
อีเมล: nichakorn2@kpmg.co.th