ทำเลยุทธศาสตร์ พลิกโอกาสประเทศไทย รับการปรับห่วงโซ่อุปทานโลก

เคพีเอ็มจี ชี้ ไทยได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ สู่ผู้เล่นหลักในการกระจายและปรับระบบห่วงโซ่อุปทานธุรกิจระดับโลก

เคพีเอ็มจี ชี้ ไทยได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ สู่ผู้เล่นหลักในการกระจายและปรับห่วงโซ่อุปทานโลก

EN | TH

กรุงเทพฯ 19 มิถุนายน 2566 – เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับมืออาชีพชั้นนำ เน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับธุรกิจที่ต้องการปรับระบบห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ของประเทศ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยทำให้ไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทที่ต้องการกระจายความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 495.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตร้อยละ 2.6 ต่อปีในปี 2565 ปัจจัยต่างๆ อันประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ได้รับการพัฒนา การค้าข้ามพรมแดนที่สำคัญ และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลได้กระตุ้นให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมากย้ายห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ มายังประเทศไทย


ภูมิยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับความซับซ้อนท้าทายของระบบห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ จากโครงสร้างพื้นฐานของไทยซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดีซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ ที่ต้องการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานให้เข้าถึงตลาดที่มีการเติบโตสูง และฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 


สุกิจ วงศ์ถาวราวัฒน์
หุ้นส่วน และ ประธานฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจ
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย


นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสแรกซึ่งเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจุดยุทธศาสตร์สำคัญภายในประเทศไทยและชายแดนมาเลเซียซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 จะช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ การดำเนินการตามโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งส่งเสริมการนำเครือข่าย 5G มาใช้และความก้าวหน้าของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จะสร้างโอกาสสำหรับการเพิ่มระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลภายในห่วงโซ่อุปทาน

ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนของประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐยิ่งช่วยเสริมความน่าดึงดูดสำหรับการย้ายฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำในอาเซียน เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ ลงทุนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ และให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ


ภาคส่วนสำคัญของไทยในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีโอกาสเติบโตที่สำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยเป้าหมายของประเทศที่จะเป็นศูนย์กลางEV ในอาเซียนภายในปี 2568 ส่วนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกำลังพัฒนาผ่านการทำฟาร์มอัจฉริยะและการจัดตั้งระบบนิเวศอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ได้วางแผนสนับสนุนภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะผ่านแผนปฏิบัติการในช่วงปี 2566-2570 โดยมีมาตรการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กระตุ้นความต้องการ และสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพจากประเทศจีน

 


มัลลิกา ภูมิวาร
หุ้นส่วนที่ปรึกษาภาษีศุลกากรและการค้าระหว่างประเทศ
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย


เมื่อมองไปข้างหน้า โมเดลเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยการเปิดรับนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิตอัจฉริยะ การเพิ่มระบบอัตโนมัติ การแปลงเป็นดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีความรู้และแรงงานที่มีทักษะสูง การพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และบริการดิจิทัล ล้วนแล้วแต่นำเสนอโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับธุรกิจในประเทศไทย


เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยของเราได้รับความสนใจจากธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพราะความได้เปรียบของตำแหน่งยุทธศาสตร์ ด้วยทำเลที่เอื้ออำนวย โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ประเทศไทยจึงมีความพร้อมเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนแปลงนี้ และทีมงานของ KPMG มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยลูกค้าของเราในการคว้าโอกาสเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้ได้มากที่สุด

 


เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว


ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มของ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ได้ที่เว็บไซต์ Rethinking supply chains: Thailand’s opportunity in the global supply chain realignment.

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน

เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 143 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 265,000 คน

บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง

เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ kpmg.com/governance

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กร เอกชน จำกัด ในอังกฤษ

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

กัมปนาท อินทร์ด้วง
อีเมล: kampanati@kpmg.co.th