ความเสี่ยงและโอกาสจากสภาพภูมิอากาศ: การเปิดเผยและรายงานข้อมูลทางการเงิน
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ในมุมมองของ CEO ทั่วโลกต่อการเติบโตของธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดอันดับ 5
รายงาน KPMG 2021 CEO Outlook Pulse Survey พบว่าความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ในมุมมองของ CEO ทั่วโลกต่อการเติบโตของธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า การที่ธุรกิจตระหนักถึงความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและประเด็นที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือผลกระทบของความเสี่ยง และวิธีการที่ธุรกิจจะสามารถปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ความเสี่ยงนี้
เคพีเอ็มจี พร้อมกับบริษัทกฎหมายระดับโลก Eversheds ได้ทำการสำรวจผู้บริหารจาก 500 องค์กรระดับโลกในรายงาน Climate change and corporate value: What companies really think พบว่าผู้นำสามในสี่ของการสำรวจยอมรับว่าองค์กรจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะเดียวกันผลการสำรวจพบว่าหลายองค์กรยังเชื่อว่าตนเองขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ (Net zero)
ประเด็นสำคัญคือการที่องค์กรไม่สามารถระบุ ประเมินและเปิดเผยความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้นั้น ท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่ปัญหาทั้งในด้านหนี้สินและกับนักลงทุนต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันผู้มีส่วนได้เสียมีความตระหนักถึงความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่มีต่อการลงทุน นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลยังให้ความสำคัญกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและวิธีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศการเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD Supporter) อย่างเป็นทางการ และสนับสนุนให้นำปัจจัยด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศไปผนวกเข้ากับกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ในแบบรายงานประจำปี One Report ยังมีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลในด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance – ESG) ท้ายที่สุดแล้วความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศนั้นจำเป็นต้องผนวกเข้าเป็นความเสี่ยงทางการเงินเนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อโมเดลการทำธุรกิจ กระแสเงินสดในระยะยาว และความสามารถในการทำกำไร นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ และมูลค่าธุรกิจอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงมาพร้อมกับโอกาส เมื่อความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้ถูกประเมิน วัดมูลค่าและวางมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบแล้วย่อมสามารถนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ การปรับโครงสร้างห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทาน การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและการรับรู้ของผู้บริโภค รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนั้น สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด เทคโนโลยีและชื่อเสียงให้กับองค์กรได้ การที่องค์กรตระหนักเรื่องความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการรายงานทางการเงิน จะทำให้องค์กรสามารถจัดสรรเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสี่ยง สร้างขีดความสามารถและเพิ่มความมั่นคงทางฐานะการเงินขององค์กรได้
ในแง่ของธุรกิจและการรายงานทางการเงิน ผู้ใช้งบการเงินต้องการที่จะทราบว่าสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อองค์กรได้อย่างไรบ้าง ทั้งในด้านโมเดลธุรกิจ กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และผลประกอบการทางการเงิน เพื่อที่จะประเมินว่าองค์กรจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสจากสภาพภูมิอากาศเหล่านี้อย่างไร และผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวจะเป็นเช่นไร ถึงแม้ว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความเสี่ยงและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศโดยตรง แต่องค์กรจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในงบการเงินถ้าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นมีสาระสำคัญต่องบการเงิน องค์กรจำเป็นต้องทราบถึงข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมาตรฐานใหม่ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการรายงานความยั่งยืนและการรายงานทางการเงิน เนื่องจากอีกไม่นาน International Sustainability Standards Board (ISSB) จะออกมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและการรายงานทั่วไปในด้านความยั่งยืน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรายงานดังกล่าว องค์กรสามารถที่จะมีการเตรียมตัวดังนี้:
- คำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบทางการเงินต่างๆ ในระหว่างการจัดทำงบการเงิน
- คำนึงถึงสาระสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในการเปิดเผยข้อมูลทั้งการใช้วิจารณญาณและข้อสมมติที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ
- เปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วิจารณญาณและการประมาณการที่มีผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
- การใช้ข้อสมมติในการจัดทำงบการเงินนั้นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับข้อมูลอื่นรวมถึงความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปิดเผยในรายงานประจำปี องค์กรอาจจะต้องใส่คำอธิบายเพิ่มเติมในกรณีที่มีความไม่สอดคล้องกัน
- คำนึงถึงกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- ติดตามความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนและการรายงานทางการเงิน
บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เคพีเอ็มจี
บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของเคพีเอ็มจีสามารถช่วยให้คุณเข้าใจและจัดการกับความท้าทายด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้ การให้บริการด้านความยั่งยืนของเคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ให้บริการด้านความยั่งยืนกว่า 500 คนทั่วโลก โดยให้คำปรึกษาและให้บริการด้านความเชื่อมั่นในมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เครือข่ายทั่วโลกของเคพีเอ็มจีมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนมายาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งความเชี่ยวชาญนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของคุณ การให้บริการของเราถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านความยั่งยืนขององค์กร ตั้งแต่รับรองรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กร เคพีเอ็มจีมีประสบการณ์ที่หลากหลายในการทำงานกับองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมการเงิน น้ำมันและเชื้อเพลิง ภาครัฐบาล คมนาคมขนส่ง และกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค เป็นต้น
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เราดำเนินธุรกิจใน 146 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 227,000 คนในบริษัทเคพีเอ็มจีทั่วโลก เคพีเอ็มจีในแต่ละประเทศเป็นองค์กรที่มีการดำเนินการเป็นเอกเทศ
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:
พลอย พยัฆวิเชียร
อีเมล: ploi@kpmg.co.th