ข่าวและบทความ | 3 มิถุนายน 2563

การจัดการด้านการเงินและข้อพิจารณาด้านการปฏิบัติการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในชีวิตปกติวิถีใหม่ (New normal) หลัง COVID-19

การจัดการด้านการเงินและข้อพิจารณาด้านการปฏิบัติการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในชีวิตปกติวิถีให

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานว่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของประเทศไทยลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเกือบ 9 ปี เนื่องจากการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทอันเป็นเหตุมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโลก ภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตนั้นอยู่ที่ 51.87% ในเดือนเมษายน 2563 และ 66.7% สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ซึ่งลดลงจากเดิม 71.3% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศ ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้ยุค ‘New normal’ ซึ่งรวมถึงการปรับมาตรฐานและขั้นตอนด้านความปลอดภัย ความสะอาด และสุขอนามัย” คุณเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าว “ความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเหล่านี้นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการผลิตที่คาดว่าจะทำได้น้อยลง ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องได้แม้ว่าความต้องการทางตลาดจะเพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากผู้ผลิตจะต้องให้ความสำคัญด้านการพัฒนาขั้นตอนการดำเนินการแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญด้านฐานะการเงินอีกด้วย เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดท่ามกลางการปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายของปัจจุบัน”

การจัดการด้านการเงินและข้อพิจารณาด้านการปฏิบัติการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในชีวิตปกติวิถีใหม่ (New normal) หลัง COVID 19

สภาพคล่องที่ฝืดเคืองในปัจจุบันอาจเกิดจากความต้องการบริโภคและยอดขายที่ลดลงเนื่องจากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และรู้สึกถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านการผลิตที่เพิ่มขึ้นอันเป็นสาเหตุมาจากประสิทธิภาพในการผลิตที่ลดลงเพราะมาตรการ Social distancing ต้นทุนชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้น ขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากเดิม ค่าโสหุ้ยการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงและการปฏิบัติการที่มากขึ้น และยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการซื้ออุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและความสะอาด รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบมาตรฐานและการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการการผลิต เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องสามารถจัดการกับเงื่อนไขทางการผลิตที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กับรักษาสภาพคล่องขององค์กร

การเริ่มต้นใหม่ หรือการ Restart ทางการผลิตด้วยฐานะการเงินที่ไม่แข็งแรง และเงินสดสำรองที่มีจำกัด ประกอบกับต้นทุนต่างๆ ที่สูงขึ้น และการผลิตที่ทำได้น้อยลงนั้นเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทีมผู้บริหาร โดยเฉพาะในช่วงที่พนักงานหลายคนทำงานจากบ้าน (Work from home) ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องจัดการเงินทุนและทรัพยากรอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนการเปิดตัวสินค้าที่ก่อนหน้านี้อาจจะมีการหยุดชะงักทางการผลิต หรือยกเลิกคำสั่งซื้อไป

จากนี้ไปผู้ผลิตจะมีกระบวนการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม และพนักงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการใหม่ ๆ ในยุค New normal เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นใหม่ต้องเป็นไปอย่างราบรื่น และต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อที่จะให้โรงงานสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ การเข้าใจในโครงสร้างต้นทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตในอนาคตและสภาพคล่องขององค์กรจะทำได้โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกและมีมาตรการชี้วัด (KPI) ที่ชัดเจน ตัวอย่างสิ่งที่องค์กรควรคำนึงถึงเพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้รวมถึง

  • มาตรการลดต้นทุน: ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการลดต้นทุนและการรักษาเงินสดในระยะสั้น ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะผ่านช่วงเริ่มต้นใหม่ไปแล้ว จนกว่าจะสามารถหารูปแบบการผลิตใหม่ที่เหมาะสมได้
  • การคาดการณ์กระแสเงินสดและสภาพคล่อง: จำเป็นอย่างยิ่งต้องคาดการณ์กระแสเงินสดและสภาพคล่องอย่างละเอียด โดยการจำลองสถานการณ์ที่ต่างกัน และคำนึงถึงโครงสร้างต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อให้องค์กรมีสภาพคล่องพอที่จะดำเนินการผลิตและรักษาความปลอดภัยให้แก่พนักงานได้
  • มุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหา: KPIs และข้อมูลควรถูกใช้เพื่อการพัฒนาและลดการถดถอยของผลประกอบการเป็นหลัก
  • ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน: ย้อนกลับไปพิจารณาห่วงโซ่อุปทานและทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระบวนการและเครือข่ายของห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างความยืดหยุ่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบ หรือผู้จัดหาวัตถุดิบเจ้าใดเจ้าหนึ่งมากเกินไป

“ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ สำหรับผู้ผลิตในยุค New normal นั้นจะมีมูลค่าสูง แต่ถ้าองค์กรไม่มีมาตรการรองรับที่ดีเพียงพอ อาจทำให้ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นมีมูลค่าที่สูงมากยิ่งกว่า” คุณเจริญกล่าวต่อ “ถ้ามีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 แม้เพียงคนเดียว ก็อาจจะทำให้โรงงานต้องหยุดดำเนินการ เพราะฉะนั้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพนักงาน พร้อมกับนำนวัตกรรมมาพัฒนาขั้นตอนการผลิต จะสามารถทำให้โรงงานประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ และในยุค New normal”

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Managing in the new normal: Financial and operation considerations for manufacturers post COVID-19

 

English version: Managing the new normal: Financial and operational considerations for manufacturers post COVID-19

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชี ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต เคพีเอ็มจี ให้คำปรึกษาด้านการสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างการดำเนินการ การจัดการสภาพคล่อง การจัดการความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business continuity management) การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้าง การปรับเปลี่ยนองค์กร การวางกลยุทธ์องค์กร การปรับเปลี่ยนทางดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การจัดการความเสี่ยง การบริการด้านกฎหมาย ภาษี และสอบบัญชี

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี กฏหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เราดำเนินธุรกิจใน 147 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 219,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก เคพีเอ็มจีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศและมีพนักงานมากกว่า 46,000 คน

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

พลอย พยัฆวิเชียร
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2034
อีเมล: ploi@kpmg.co.th