ซีอีโอ คิดนอกกรอบเพื่อการเติบโตขององค์กร
ซีอีโอ คิดนอกกรอบเพื่อการเติบโตขององค์กร
ซีอีโอ 2 ใน 3 มองว่าความยืดหยุ่นมีความสำคัญอย่างมาก และถ้าองค์กรไม่ปรับตัว ธุรกิจจะไปไม่รอด
30 พฤษภาคม 2562 – ซีอีโอต่างต้องเผชิญกับความท้าทาย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งความเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อการเติบโตนั้นพวกเขาต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจดั้งเดิม และท้าทายการดำเนินธุรกิจในแบบที่มีมานาน
จากรายงาน Global CEO Outlook ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดทำโดยเคพีเอ็มจี อินเตอร์แนชั่นแนล พบว่าซีอีโอเกินครึ่งมั่นใจว่าองค์กรของพวกเขาจะประสบความสำเร็จ แต่ความมั่นใจนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป โดยร้อยละ 53 มองว่าการเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 (ซึ่งลดลงจากปี 2561 ที่ร้อยละ 55) เช่นเดียวกับในปี 2561 ที่เหล่าซีอีโอมองว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอีก 3 ปีข้างหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ถึงแม้ว่าจำนวนซีอีโอที่คิดเช่นนี้จะลดลงจากร้อยละ 67 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 62 ในปีนี้ ความเชื่อมั่นนี้ยังแสดงให้เห็นในแผนการจ้างงานเพิ่ม โดยที่ร้อยละ 36 กล่าวว่าจะเพิ่มอัตราการจ้างงานถึง ร้อยละ 6 ในอีก 3 ปีข้างหน้า
“ซีอีโอที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีความยืดหยุ่น” บิล โทมัส ประธาน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว “การประสบความสำเร็จท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจำเป็นต้องมีทักษะความเป็นผู้นำที่หลากหลาย โดยเฉพาะในองค์กรข้ามชาติต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและใช้ขนาดขององค์กรในการคงความสามารถในการแข่งขัน ไม่เพียงพอให้ประสบความสำเร็จอีกต่อไป ทุกวันนี้ซีอีโอจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ สร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ และมองหากลยุทธ์ในการควบรวมและซื้อกิจการที่ต่างจากเดิม รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรอีกด้วย”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการปฏิบัติการ
ซีอีโอต่างระบุให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงที่สูงที่สุดต่อการเติบโตขององค์กร ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกบ่งชี้ให้เป็นซึ่งสิ่งต้องระวังลำดับต้น เมื่อเทียบกับความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ด้านพรมแดน ด้านไซเบอร์ และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงแต่ละอย่างที่กล่าวมาข้างต้นได้รับคะแนนความเสี่ยงใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้เห็นสภาพแวดล้อมของความเสี่ยงทางธุรกิจที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ความเหลื่อมล้ำทางนวัตกรรม
ซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84) เชื่อในวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความผิดพลาดให้ได้เร็วที่สุด แต่ในทางกลับกัน มีซีอีโอเพียงร้อยละ 56 ที่เชื่อว่าองค์กรของตนเองมีวัฒนธรรมดังกล่าว ซีอีโอ 8 ใน 10 (ร้อยละ 84) จึงต้องการที่จะเปลี่ยนทีมผู้บริหารเพื่อทำการพลิกโฉมสิ่งเดิมๆ
ความปลอดภัยทางไซเบอร์นำสู่นวัตกรรม
ไซเบอร์ยังคงเป็นสิ่งที่ซีอีโอให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะตกจากลำดับที่ 2 ในปีที่แล้วในด้านความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตขององค์กร เป็นลำดับที่ 4 ในปีนี้ ในปี 2562 มีซีอีโอมากขึ้น (ร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับร้อยละ 55 ในปี 2561) ที่ให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ครอบคลุม และซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71) มองว่าความปลอดภัยของข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญของกลยุทธ์ทางนวัตกรรมโดยรวม
เพิ่มความสามารถองค์กรจากการควบรวมและซื้อกิจการ
สำหรับซีอีโอหลายๆ คน การควบรวมและซื้อกิจการเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลขององค์กรอย่างรวดเร็ว การมีกลยุทธ์ด้านการควบรวมและซื้อกิจการในเชิงรุกเป็นสิ่งที่ซีอีโอร้อยละ 84 ให้ความสำคัญ ซึ่งซีอีโอกลุ่มนี้มีความต้องการที่ ‘ปานกลางจนถึงมาก’ ในการควบรวมและซื้อกิจการภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งความต้องการนี้จะทำให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจได้เร็วกว่าการเติบโตขององค์กรโดยทั่วไป
“ภาพรวมของการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากประชาคมอาเซียน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และการเติบโตของประเทศไทยทางด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก” วินิจ ศิลามงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “จากการสำรวจของเคพีเอ็มจี ประเทศไทยเกี่ยวกับการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 88 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามจะทำการซื้อกิจการในประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งใน 5 ปีข้างหน้า ร้อยละ 65 จะซื้อกิจการอย่างน้อย 2 ครั้ง และเกือบ 1 ใน 4 ตั้งใจว่าจะควบรวมและซื้อกิจการอย่างน้อย 6 ครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับองค์กรต่างๆ ในแต่ละอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงและขยายธุรกิจผ่านการควบรวมและซื้อกิจการ”
การลงทุน
เมื่อให้เลือกระหว่างให้ความสำคัญกับการซื้อเทคโนโลยีใหม่ หรือการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นขององค์กร ซีอีโอส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็นอัตรา 2 ต่อ 1 ราย หรือร้อยละ 68 ต่อร้อยละ 32
ให้ความสำคัญด้านปัญญาประดิษฐ์
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence – AI) เป็นสิ่งที่เหล่าซีอีโอต่างให้ความสนใจ แต่มีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่มีการนำ AI และโปรแกรมระบบอัตโนมัติมาใช้ในองค์กร ส่วนร้อยละ 31 อยู่ในช่วงทดลองใช้ และร้อยละ 53 ยอมรับว่ามีการใช้ AI ในวงจำกัด อย่างไรก็ตามซีอีโอร้อยละ 65 เชื่อว่าการใช้ AI และระบบอัตโนมัติจะทำให้มีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง
บิล โทมัสกล่าวว่า "โดยรวมแล้ว การสำรวจปีนี้บ่งชี้ว่าเรากำลังก้าวเขาสู่ยุคใหม่ของการบริหารองค์กร ความยืดหยุ่นเกิดจากที่ซีอีโอสามารถใช้สัญชาตญาณร่วมกับความมั่นใจจากการบ่งชี้ของข้อมูล การติดสินใจด้านกลยุทธ์จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรงปราศจากอคติ การใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ ‘big’ data นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการค้นหา ‘ข้อมูลที่มีคุณภาพ’ ซึ่งวิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น และส่งเสริมการเติบโตได้"
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจครั้งนี้ได้ที่ www.kpmg.com/CEOoutlook หรือติดตามได้ผ่าน Twitter: @KPMG และ Instagram: #CEOoutlook
English version: CEOs rewrite the rulebook in pursuit of growth
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:
พลอย พยัฆวิเชียร
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2034
อีเมล: ploi@kpmg.co.th
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
เกี่ยวกับ CEO outlook
การสำรวจ KPMG CEO Outlook ซึ่งปัจจุบันทำติดต่อกันเป็นปีที่ 5 เป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์กรและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากมุมมองของผู้บริหารนับพันคนทั่วโลก ในแต่ละปีรายงานฉบับนี้จะต่อยอดข้อมูลจากปีก่อนๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีคำถามใหม่ๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประเด็นล่าสุด
การสำรวจในปี 2562 เป็นการสำรวจซีอีโอจำนวน 1,300 รายจากตลาดหลักใน 11 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และใน 11 อุตสาหกรรมหลัก (การจัดการสินทรัพย์ ยานยนต์ การธนาคาร ผู้บริโภคและการค้าปลีก พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ประกันภัย ชีววิทยาศาสตร์ การผลิต เทคโนโลยี และโทรคมนาคม)
1 ใน 3 ขององค์กรที่ทำการสำรวจมีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่มีองค์กรที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การสำรวจทำขึ้นระหว่างวันที่ 8 มกราคม ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2562
*ผลสำรวจมีการปัดเศษ
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษา เราดำเนินงานใน 153 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 207,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในบริษัทสมาชิกทั่วโลก บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเคพีเอ็มจีจะถือเป็นสมาชิกของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล (KPMG International) เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกเคพีเอ็มจีเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และมีอิสระตามกฎหมาย
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ
Some or all of the services described herein may not be permissible for KPMG audit clients and their affiliates or related entities.
© 2024 KPMG Phoomchai Holdings Co., Ltd., a Thai limited liability company and a member firm of the KPMG global organization of independent member firms affiliated with KPMG International Limited, a private English company limited by guarantee. All rights reserved.
For more detail about the structure of the KPMG global organization please visit https://kpmg.com/governance.