ขยายกิจการโดยการซื้อหรือควบรวมกิจการ

Thailand Tax Updates - 28 February 2019

การซื้อกิจการหรือการควบรวมกิจการ เป็นวิธีการหนึ่งที่มักใช้ในการขยายธุรกิจของกิจการ ทั้งการขยายตลาดในธุรกิจเดิมหรือการต่อยอดด้วยการเพิ่มกลุ่มธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ การหากลุ่มพันธมิตรเพื่อการร่วมมือในการเติบโต ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมลงทุน หรือโดยการเข้าไปซื้อกิจการหรือทำการควบรวมกิจการเข้าด้วยกันจะทำให้สามารถขยายกิจการและดำเนินธุรกิจได้ทันที ทั้งนี้การเข้าไปซื้อกิจการสามารถทำได้โดยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของบริษัทเป้าหมาย (บริษัทฯที่ต้องการซื้อกิจการ) ซึ่งผู้ซื้อก็จะได้ไปทั้งบริษัท หลังจากนั้นอาจจะทำการควบรวมบริษัทที่มีอยู่เข้าด้วยกันก็ได้ อีกทางเลือกหนึ่งคือซื้อกิจการโดยซื้อทรัพย์สินหนี้สินรวมถึงรับโอนพนักงานจากบริษัทเป้าหมายเข้ามารวมกับบริษัทของผู้ซื้อ

ขยายกิจการโดยการซื้อหรือควบรวมกิจการ

จากผลสำรวจของเคพีเอ็มจีในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการซื้อและควบรวมกิจการในไทย โดยสำรวจจากลูกค้าในไทยและต่างประเทศ พบว่า อาเซียนยังคงเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศในอาเซียนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากนักลงทุน ตามด้วยประเทศไทย  ซึ่งจุดประสงค์ของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยร้อยละ 65 ของผู้ตอบแบบสอบถามจากการสำรวจระบุว่าเพื่อเป็นการขยายธุรกิจและหาตลาดใหม่  ในขณะที่ร้อยละ 42 เพื่อการลงทุนให้ได้ผลตอบแทน และร้อยละ 27 ระบุว่าเพื่อเป็นฐานในการขยายกิจการเข้าสู่อาเซียน ประเด็นแรกที่ผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อกิจการต้องดำเนินการคือการหาบริษัทเป้าหมาย ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 46 ระบุว่าใช้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่หรือข้อมูลที่หาได้ในตลาด ขณะที่ร้อยละ 31 จะทำการศึกษาหาบริษัทเป้าหมายเองด้วยการทำการวิเคราะห์ภายใน และร้อยละ 23 จะใช้บริการนายหน้า หรือที่ปรึกษาในการหาบริษัทเป้าหมาย

เมื่อได้บริษัทเป้าหมายแล้วก็ต้องตรวจสภาพกิจการบริษัทเป้าหมาย เพราะการซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของบริษัทเป้าหมาย จะทำให้ผู้ลงทุนใหม่ได้ทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทเป้าหมาย ในกรณีนี้ผู้ซื้อมักจัดให้มีการตรวจสภาพ (due diligence)  บริษัทเป้าหมาย  ซึ่งสามอันดับต้นๆ ที่ต้องทำการตรวจสอบได้แก่  งบการเงิน ภาระภาษีและภาระทางกฎหมายที่มีอยู่ในอดีตรวมถึงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมากน้อยเพียงใด การซื้อขายจะสำเร็จหรือไม่ปัจจัยหนึ่งก็มาจากผลของการตรวจสภาพบริษัทเป้าหมาย ซึ่งภาระทางกฎหมายและภาษีจัดเป็นอันดับต้นๆ  ของทั้งการที่จะทำให้การซื้อขายธุรกิจสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ กล่าวคือถ้าภาระทางกฎหมายและภาษีสามารถจัดการได้ก็จะมีแนวโน้มสำเร็จ ในขณะที่หากผู้ซื้อเล็งเห็นว่าภาระทางกฎหมายและภาษีที่มีอยู่ในบริษัทเป้าหมายจะมีความเสี่ยงสูงก็อาจมีผลให้ผู้ซื้อตัดสินใจไม่ซื้อกิจการก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้หากการตรวจสภาพของบริษัทเป้าหมายแสดงผลว่าบริษัทเป้าหมายอาจมีภาระกฎหมายหรือภาษี หากต้องการให้การซื้อขายเกิดขึ้นผู้ซื้อมักจะขอให้ผู้ขายยินยอมที่จะรับผิดชอบต่อภาระกฎหมายและภาษีที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายหุ้นควรมีข้อกำหนดที่เปิดให้มีการชดเชยกันได้ภายในกรอบระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงภาระหนี้สินที่ไม่สามารถค้นพบได้ในระหว่างเวลาที่ทำ due diligence  ซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาซื้อขายกิจการด้วย

นอกเหนือจากเรื่องภาระทางด้านกฎหมายและภาษีแล้วก็จะเป็นเรื่องคุณภาพของรายงานการบันทึกบัญชีและ ความสามารถและความโปร่งใสของการบริหารงานของผู้บริหาร  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อมักนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ข้อต่อไปที่ต้องพิจารณาคือ ภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับกำไร (capital gains) ของผู้ขายที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทเป้าหมาย  กรณีเป็นการขายหุ้นระหว่างบริษัทไทยด้วยกันแล้วผู้ซื้อจะไม่มีภาระที่จะต้องหักภาษี หัก ณ ที่จ่ายเมื่อผู้ซื้อชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ขายที่เป็นบริษัทไทยเช่นเดียวกัน   กำไรจากการขายหุ้นจะเป็นเงินได้ของผู้ขายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ขายเอง แต่ถ้าผู้ขายเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในไทย  ผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทไทยจะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตาม มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราภาษีร้อยละ 15 จากกำไรที่ผู้ขายได้จากการขายหุ้นดังกล่าว  อย่างไรก็ดี ภาษี หัก ณ ที่จ่าย อาจจะยกเว้นได้ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยมีกับประเทศผู้ขาย นอกจากภาษี หัก ณ ที่จ่ายแล้วก็มีเรื่องอากรแสตมป์ที่มักจะมีในกรณีการโอนหุ้น ที่กิจการต้องพิจารณา ทั้งนี้การทำสัญญาซื้อขายหุ้น ควรจะต้องมีการกำหนดเรื่องภาระภาษีอย่างชัดเจนว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะบางครั้งผู้ขายอาจกำหนดราคาขายที่ราคาสุทธิโดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้น เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อากรแสตมป์ ซึ่งอาจมีผลต่อการเจรจาราคาซื้อขายหุ้นด้วย  การที่การซื้อขายกิจการจะสำเร็จหรือไม่นอกจากปัจจัยทางธุรกิจแล้ว ภาษีก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และมีผลต่อการตัดสินใจ กิจการจึงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ

Connect with us