ทำงานข้ามประเทศจะเสียภาษีไทยอย่างไร
Thailand Tax Updates - 31 January 2019
พอเริ่มต้นปีใหม่ก็ได้เวลาที่จะต้องรวบรวมรายได้และข้อมูลเพื่อจัดเตรียมในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีทีผ่านมา บุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีไทยจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2561 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2562 บุคคลที่มีการทำงานข้ามประเทศหรือมีรายได้จากการทำงานมากกว่าหนึ่งประเทศอาจจะมีคำถามในเรื่องของรายได้ที่ต้องเสียภาษีในไทย ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงกรณีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยและกรณีคนไทยไปทำงานในต่างประเทศซึ่งอาจมีรายได้ทั้งในไทยและในต่างประเทศ
การที่จะวิเคราะห์ว่าเงินได้ส่วนใดที่จะนำมารายงานเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทยนั้น ก็ต้องเข้าใจหลักการในเรื่องการจัดเก็บภาษีของไทยก่อน ทั้งนี้โดยหลักประเทศไทยเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นข้อแรกที่ต้องพิจารณาคือพิจารณาว่าเงินได้ที่ได้รับในปี 2561 เป็นเงินได้ที่ได้จากแหล่งในประเทศไทยหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ได้ดูว่าได้รับเงินได้นั้นที่ไหนแต่ให้ดูว่าเป็นเงินได้จากการทำงานที่ใดหรือทำงานเพื่อใคร ภายใต้กฎหมายภาษีไทยเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยหมายถึงเงินได้ที่ได้จากการทำงานในประเทศไทย หรือจากหน้าที่งานในประเทศไทย หรือ จากนายจ้างในประเทศไทย หรือ จากทรัพย์สินในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายที่ไหน
กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยและมีเงินได้อันเนื่องมาจากการทำงานในไทย เงินได้ที่ชาวต่างชาติได้รับจากการทำงานดังกล่าวถือเป็นเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกประเทศไทย ในหลายกรณีเมื่อคนต่างชาติมาทำงานในไทยอาจจะมีการแบ่งจ่ายเงินได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งจ่ายเป็นเงินบาทในไทยสำหรับใช้จ่ายในไทย อีกส่วนหนึ่งจ่ายในต่างประเทศเป็นสกุลเงินของประเทศตนเอง ซึ่งทั้งสองส่วนจะถือเป็นเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย ขณะที่เงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศไทยก็ตรงข้ามกัน กล่าวคือ หมายถึงเงินได้จากการทำงานหรือหน้าที่งานในต่างประเทศ หรือ จากทรัพย์สินในต่างประเทศ โดยเงินได้จากแหล่งนอกประเทศไทยจะเสียภาษีไทยก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยและนำเงินได้ที่ได้รับจากแหล่งนอกประเทศไทยของปีนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกัน บุคคลธรรมดาจะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อบุคคลนั้นได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีปฏิทินที่เกี่ยวข้อง การนับ 180 วันจะนับตามวันที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าทำงานหรือไม่ทำงานก็ตาม
กรณีคนไทยไปทำงานในต่างประเทศให้แก่นายจ้างในต่างประเทศเงินได้จากการทำงานในต่างประเทศดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้จากแหล่งนอกประเทศไทยที่ไม่เสียภาษีไทย เว้นไว้แต่ว่า จะมีการนำเงินได้นั้นกลับเข้ามาในไทยในปีเดียวกันกับที่มีเงินได้และอยู่ในไทยถึง 180 วันในปีที่นำเงินได้เข้ามาจึงจะต้องนำมารวมเสียภาษีไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนไทยไปทำงานที่เวียดนามกับนายจ้างในเวียดนาม ในปี 2561 กลับมาไทยบ้างในช่วงวันหยุดหรือลาพักประจำปี แต่นับแล้วอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ดังนั้นเงินได้ที่ได้จากการทำงานในเวียดนามจะไม่เสียภาษีไทยไม่ว่าจะนำเงินกลับเข้ามาในไทยหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นบุคคลที่ไปทำงานในต่างประเทศและอาจมีการนำเงินได้กลับมาด้วยจึงต้องนับด้วยว่าในปี 2561 ได้เข้ามาในไทยถึง 180 วันหรือไม่
ในลักษณะเดียวกันคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศก็ต้องพิจารณา หลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาของประเทศที่เข้าไปทำงานซึ่งหลักใหญ่ๆ จะต้องทราบว่า ประเทศที่เข้าไปทำงานนั้นกำหนดการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากฐานเงินได้ของบุคคลดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก (worldwide basis) หรือเฉพาะฐานเงินได้ที่เกิดในประเทศผู้จัดเก็บภาษีเท่านั้น (territorial basis) ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยส่วนใหญ่จัดเก็บภาษีเฉพาะเงินได้ที่เกิดในประเทศของตนกรณีผู้เงินได้ไม่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้น (tax resident) ซึ่งในหลายประเทศ หากผู้มีเงินได้เป็นผู้มีถิ่นทีอยู่ในประเทศแล้วจะจัดเก็บภาษีจากฐานเงินได้ทั่วโลกแทน เช่น กัมพูชาเก็บภาษีของผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ในกัมพูชา (non- resident) เฉพาะฐานเงินได้ที่เกิดในกัมพูชา แต่ถ้าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในกัมพูชา (resident) ก็จะเสียภาษีตามฐานเงินได้ทั่วโลก ซึ่งการที่จะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในกัมพูชานอกจากจะพิจารณาจากการมีถิ่นฐานถาวรในกัมพูชาแล้ว ยังรวมถึงการที่บุคคลอาศัยอยู่ในกัมพูชาเกิน 182 วันในระยะเวลา 12 เดือนของปีภาษี หากบุคคลไทยไปทำงานที่กัมพูชา และกลายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในกัมพูชาจะมีผลให้บุคคลไทยต้องนำรายได้จากแหล่งนอกกัมพูชามาเสียภาษีในกัมพูชาด้วย การเป็นหรือไม่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่บุคคลไปอาศัย จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการพิจารณาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บุคคลอาจเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ ( Tax resident ) ประเทศในกลุ่มอาเซียนหากอาศัยอยู่เกินจำนวนวันที่กำหนดภายในปีภาษีหรือภายใน 12 เดือน*
ประเทศสมาชิก |
จำนวนวัน |
บรูไน |
183 วัน |
กัมพูชา |
182 วัน |
อินโดนีเซีย |
183 วัน |
ลาว |
- ** |
มาเลเซีย |
182 วัน |
พม่า |
183 วัน |
ฟิลิปปินส์ |
180 วัน |
สิงคโปร์ |
183 วัน |
ไทย |
180 วัน |
เวียดนาม |
182 วัน |
หมายเหตุ:
*เป็นข้อมูลเบื้องต้น ควรตรวจสอบรายละเอียดกฎหมายของแต่ละประเทศเพิ่มเติม
**ไม่มีการกำหนดด้วยจำนวนวันในการพิจารณาถิ่นที่อยู่
Connect with us
- Find office locations kpmg.findOfficeLocations
- kpmg.emailUs
- Social media @ KPMG kpmg.socialMedia