ไทยออกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานภูมิภาคใหม่เพื่อให้สอดคล้องมาตรการ BEPS

Thailand Tax Update -22 October 2018

จากการที่ไทยได้ตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) อันมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่า ซึ่งในปัจจุบัน ตามบัญชีรายชื่อประเทศใน website ของ OECD ล่าสุดเดือนตุลาคม 2561 ประเทศที่ได้ตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Members of the Inclusive Framework on BEPS) มีทั้งสิ้น 119 ประเทศ โดยรวม 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ในแผนปฏิบัติการ BEPS ที่เผยแพร่โดย OECD มีทั้งสิ้น 15 มาตรการ ซึ่งประเทศที่ตกลงเข้าร่วมจะมีข้อผูกมัดต้องรับหลักการในแผนปฏิบัติการ BEPS อย่างน้อย 4 หลักการมาใช้บังคับ (Comprehensive BEPS Package)

ไทยออกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานภูมิภาคใหม่เพื่อให้สอดคล้องมาตรการ BEPS

หลักการที่ว่าประกอบด้วย

1. มาตรการ 5 การตอบโต้มาตรการภาษีที่เป็นภัย (Harmful Tax Practices)

2.มาตรการ 6 การป้องกันการใช้อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในทางที่ไม่ถูกต้อง (The Prevention of Treaty Abuse)

3. มาตรการ13 การจัดทำเอกสารราคาโอน (Transfer Pricing Documentation) รายงานระหว่างประเทศ (Country-by-Country Reporting: CbCR) และ

4. มาตรการ 14 การปรับปรุงข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ (Dispute Resolution)

ทั้งนี้ในการเข้าร่วมโครงการ BEPS นี้กฎหมายภายในของประเทศที่เข้าร่วมต้องถูกตรวจสอบหรือตรวจทานจากประเทศสมาชิกอื่นก่อน ว่ามีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ในการที่จะรับหลักการตามแผนปฏิบัติการทั้ง 4 มาตรการ ของ OECD มาปรับใช้

อันเนื่องมาจากมาตรการ 5 การตอบโต้มาตรการภาษีที่เป็นภัย (Harmful Tax Practices) หลังจากที่ผ่านมามีรายงานของ OECD และ EU เรื่องมาตรการภาษีที่เป็นภัย ซึ่งในรายงานทั้งของ OECD และ EU ได้มีการกล่าวถึงมาตรการภาษีของประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทย ว่ามาตรการที่เกี่ยวกับสำนักงานปฎิบัติการภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่ ซึ่งรวมถึง Regional Operating Headquarters (ROH), International Headquarters  (IHQ), International Trading Center (ITC) ของไทยนั้นจัดเป็นมาตรการภาษีที่เป็นภัย ซึ่งต่อมาในเดือนมิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการที่จะมีการแก้ไขมาตรการดังกล่าว เน้นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิภาษีที่เกี่ยวกับค่าสิทธิ โดยไม่มีข่าวออกมาก่อนเลย ในวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดรับกับแนวปฎิบัติในการที่ประเทศเป็นสมาชิก Inclusive Framework on BEPS สาระสำคัญของหลักการตามที่อนุมัติคือ 

  1. ยุติการรับจดแจ้ง  ROH, IHQ  และ ITC รายใหม่ภายใต้มาตราการภาษีปัจจุบันทุกมาตรการตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป 
  2. มาตรการ ROH, IHQ และ ITC ในปัจจุบันจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 10 หรือ 15 รอบบัญชีตามกฎหมายของมาตรการเดิม 
  3. เสนอมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ International Business Centre (IBC) เพื่อทดแทน ROH, IHQ  และ ITC เดิมที่ยุติไป 

ผลจากข้างต้นทำให้คำขอที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ต้องตกไปโดยปริยาย ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทที่คำขอกำลังอยู่ในการพิจารณา หรือ กำลังจะดำเนินการขอ ต้องเป็นอันพับไปโดยไม่ทันได้เตรียมตัวมาก่อน

ทั้งนี้มาตรการ IBC ที่เสนอใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะต้องรอให้มีกฎหมายออกมาก่อน สิทธิประโยชน์ที่ผู้ขอจะได้จาก IBC จะแตกต่างจากมาตรการเดิมอย่างมีสาระสำคัญได้แก่ จะไม่มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการให้บริการหรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ และ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ เหลือร้อยละ 8 หรือ 5 หรือ 3 ของกำไรสุทธิตามรายจ่ายในประเทศ 60 ล้านบาท หรือ 300 ล้านบาท หรือ 600 ล้านบาทแล้วแต่กรณี  ซึ่งจะเห็นว่าการลดอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายในประเทศ กล่าวคือ ยิ่งมีค่าใช้จ่ายในประเทศมาก ก็จะยิ่งได้ลดอัตราภาษีมากขึ้น แต่ขั้นต่ำของค่าใช้จ่ายในประเทศอยู่ที่ 60 ล้านบาทซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้มาตรการ IBC ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสาระสำคัญจากมาตรการเดิม (มาตรการเดิม ค่าใช้จ่ายในประเทศขั้นต่ำคือ 15 ล้านบาท) ทั้งนี้เข้าใจว่าจำนวนค่าใช้จ่ายจะเป็นการพิสูจน์หรือแสดงให้เห็นว่ากิจการมีการประกอบกิจการในประเทศอย่างมีสาระสำคัญ

ส่วนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ยังเหมือนมาตรการเดิมคือยกเว้นภาษีเงินปันผล ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ  รวมถึงลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IBC เหลือร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน 

การยกเลิกมาตรการ  ROH, IHQ และ ITC รวมถึงการเสนอมาตรการ IBC ใหม่เป็นความพยายามของไทยที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการให้ความร่วมมือแก่นานาประเทศเพื่อการจัดเก็บภาษีอย่างโปรงใสและให้เป็นไปตามมาตรการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร อย่างไรก็ดี มาตรการ IBC ใหม่ยังเป็นร่างหลักการอยู่ ดังนั้นกิจการที่ประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์ต้องติดตามว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร