ก้าวข้ามการ ‘ฟอกเขียว’

ปรับธุรกิจ รับแนวทางสหประชาชาติเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ปรับธุรกิจ รับแนวทางสหประชาชาติเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

EN | TH

กรุงเทพฯ 22 มิถุนายน 2566 – รายงานขององค์การสหประชาชาติเรื่องการฟอกเขียวได้รับการเผยแพร่ ณ ที่ประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP27) ภายใต้ชื่อ 'ความซื่อสัตย์: ความมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยธุรกิจ สถาบันการเงิน เมืองต่างๆ และภูมิภาค' รายงานดังกล่าวจัดทำโดยคณะทำงานซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้าน Net Zero ของภาคเอกชนและองค์กรอิสระ นำเสนอคำตักเตือนต่อบริษัทที่อ้างว่าได้มีการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ได้ลงมือทำจริง และเปิดตัวการปราบปรามการฟอกเขียวครั้งใหญ่ขององค์กรที่อ้าง Net Zero และคำมั่นสัญญาที่ 'อ่อนแอ' โดยรายงานเตือนว่า สิ่งเหล่านี้อาจบั่นทอนความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายขั้นต่ำ 1.5 องศาเซลเซียส

คำแนะนำสำคัญ

รายงานสรุปคำแนะนำที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าภาคเอกชนทำงานเต็มที่เพื่อลดปริมาณคาร์บอน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสานต่อโครงการ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Race to Zero) และเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based Targets) โดยให้กรอบเวลาและการทำงานแก่องค์กรและนักลงทุนเพื่อส่งมอบ Net Zero (ตามเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว)

รายงานนำเสนอแผนงานเพื่อป้องกันไม่ให้ Net Zero ถูกลดคุณค่าจากการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ความคลุมเครือ หรือการฟอกเขียว โดยให้คำแนะนำ 10 ประการสำหรับองค์กรและ 'ภาคเอกชนและองค์กรอิสระ' อื่น ๆ เช่น เมืองต่างๆ และนักลงทุน เพื่อเป็นแนวทางสู่ Net Zero

คำแนะนำ 10 ประการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการ 5 ข้อต่อไปนี้:

  1. ความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะใกล้และระยะกลางที่มีนัยสำคัญเพื่อเป้าหมาย Net Zero ระดับโลกภายในปี 2593
  2. แสดงความซื่อสัตย์โดยให้คำมั่นสัญญาที่สอดคล้องกับการลงมือทำและการลงทุน
  3. ความโปร่งใสในการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ปราศจากการแข่งขัน และสามารถเปรียบเทียบแผนงานและความคืบหน้าได้
  4. สร้างความน่าเชื่อถือผ่านแผนการตามแนวทางวิทยาศาสตร์และความรับผิดชอบของบุคคลที่สาม
  5. ความมุ่งมั่นที่แสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคและความยุติธรรมในแผนงานทั้งหมด

รายงานกำหนดให้มีการวางแผนที่ชัดเจน ครอบคลุมระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แสดงให้เห็นถึงเส้นทางสู่ Net Zero รวมถึงเรียกร้องให้ผู้มีส่วนร่วมนอกเหนือจากภาครัฐมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันทีตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวตามเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ หน่วยงานเหล่านี้ควรจัดทำและเผยแพร่แผนการเปลี่ยนแปลงที่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะบรรลุผลสำเร็จในทันทีได้อย่างไร และจะปรับทิศทางการลงทุนใหม่และให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

คำแนะนำบางส่วนจาก 10 ข้อ เป็นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีสำหรับบริษัทที่ให้บริการทางการเงินและองค์กรต่างๆ ที่ได้เริ่มต้นหรือกำลังเริ่มต้นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, social and governance: ESG) สู่ Net Zero ส่วนคำแนะนำอื่นๆ อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก ซึ่งคำแนะนำทั้งหมดจะมีคำอธิบายเพื่อให้ความชัดเจนเพิ่มเติม

รายงานเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องมีกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าความมุ่งมั่นสู่ Net Zero นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ จากรายงาน วิธีดังกล่าวเป็นหนทางเดียวที่จะบรรลุความสม่ำเสมอ ความเข้มงวด และบังคับใช้ได้จริง

คำแนะนำ 10 ข้อ พร้อมคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับคำแนะนำเฉพาะ มีดังนี้

คำแนะนำที่ 1: ประกาศคำมั่นสัญญา Net Zero และเป้าหมาย

คำมั่นสัญญา Net Zero นี้จะต้องเป็นพันธกิจของทั้งองค์กร และคำสัญญานี้จะต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยผู้นำองค์กร รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกปี (เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถตัดสินความคืบหน้าขององค์กรได้) และสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของภูมิภาค เมืองต่างๆ หรือบริษัท ที่เกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่จำเป็น

คำแนะนำที่ 2: กำหนดเป้าหมาย Net Zero

ภาคเอกชนต้องจัดทำแผนการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายเริ่มต้นจะต้องตั้งขึ้นภายในหนึ่งปีหลังจากประกาศคำมั่นสัญญา Net Zero ขององค์กร และรวมเป้าหมายทุกๆ 5 ปี  2568 2573 และ 2578 เพื่อดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง

แผนการเปลี่ยนแปลงจะต้องกำหนดวิธีการที่จะบรรลุ Net Zero ตามแนวทางที่จำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG) ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แผนการเปลี่ยนแปลงยังต้องครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ใช้ปลายทาง

แผนการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มอย่างรวดเร็ว โดยไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 เท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นว่าคำมั่นสัญญา Net Zero ซึ่งดำเนินการตาม 'คำแนะนำที่ 1' จะช่วยให้บรรลุผลสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2573 และตลอดจนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่องภายในปี พ.ศ. 2593

คำแนะนำที่ 3: การใช้คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

ภาคเอกชนต้องจัดลำดับความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนและละเอียดทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า รายงานระบุว่า คาร์บอนเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูงในตลาดภาคสมัครใจควรถูกนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบที่นอกเหนือไปจากห่วงโซ่คุณค่า แต่ไม่สามารถนับรวมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกาลของภาคเอกชนซึ่งกำหนดโดยแนวทาง Net Zero คาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างสมดุลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออยู่เมื่อบรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ในระยะสั้นและระยะกลางแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังจำเป็นต้องจัดการกับห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของตน เช่นเดียวกับวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง องค์กรต่างๆ ควรหยุดให้ความสำคัญกับการลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการวัดผลแบบสัมบูรณ์ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า และในกรณีที่มีข้อมูลขาดหายไปสำหรับการปล่อย Scope 3 (หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม) บริษัทต่างๆ ต้องอธิบายว่ามีการวางแผนอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ขาดหายไป หรือต้องใช้การประมาณการในเรื่องที่สำคัญในเรื่องอะไร

คำแนะนำที่ 4: การสร้างแผนการเปลี่ยนแปลงตามคำแนะนำที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในเรื่อง ESG

เมื่อแผนการเปลี่ยนแปลงถูกสร้างขึ้นแล้ว แผนนี้ไม่ควรถูกเก็บไว้ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและมีความหมาย แผนการนี้จำเป็นต้องได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และปัญหาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คำแนะนำที่ 5: การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน

รายงานระบุว่า IPCC กล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่และที่วางแผนไว้จะทำให้ปริมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ลดลง เป็นผลให้ไม่มีช่องว่างสำหรับการลงทุนใหม่ในการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่จำเป็นต้องรื้อถอนสินทรัพย์ที่มีอยู่ นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเร่งเปลี่ยนสู่อนาคตของพลังงานหมุนเวียน แต่คำแนะนำระบุว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับ IPCC และ IEA ในการกำหนดวันเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)

รายงานระบุว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการจัดหาเงินทุนสำหรับพลังงานหมุนเวียนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา คำมั่นสัญญา Net Zero ทั้งหมดควรมีเป้าหมายเฉพาะ ที่มุ่งยุติการใช้และสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลตามแนวทาง IPCC และ IEA Net Zero GHG การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องเป็นไปเพื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คนงาน และผู้บริโภคเท่านั้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการโอนเชื้อเพลิงฟอสซิลไปยังเจ้าของรายใหม่ การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่องค์กรได้ลงทุนอย่างเต็มที่

รายงานยังเสนอขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวและแนะนำว่าภาคเอกชนไม่ควรอ้างว่าธุรกิจของตนเป็น Net Zero อีกต่อไป หากยังสร้างหรือลงทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่า และกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

สำหรับสถาบันการเงินมีข้อกำหนดเฉพาะ ดังต่อไปนี้

  1. แผนเปลี่ยนผ่าน Net Zero จะต้องรวมถึงการยุติการให้กู้ยืม การรับประกันภัย หรือการลงทุนในถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าโดยทันที
  2. นโยบายเลิกใช้ถ่านหินเพื่อหยุดบริการทางการเงินและให้คำปรึกษาแก่ห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดภายในปี 2573 สำหรับประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD (ปี 2583 สำหรับประเทศนอกกลุ่ม OECD)
  3. การลงทุนในถ่านหินที่ยังคงอยู่ในพอร์ตโฟลิโอจะต้องมีแผนการดำเนินงาน พร้อมวันปิดโรงงานแต่ละแห่ง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรมสำหรับคนงาน
  4. สำหรับน้ำมันและก๊าซ นโยบายน้ำมันและก๊าซจำเป็นต้องรวมข้อผูกมัดที่จะยุติการจัดหาเงินทุนและสนับสนุนการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ การขยายปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรอง และการผลิตน้ำมันและก๊าซ (คำแนะนำไม่ได้ระบุวันที่ต้องปฏิบัติในเรื่องนี้)
  5. บริษัทที่ให้บริการทางการเงินจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 และอำนวยความสะดวกในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในพลังงานหมุนเวียน

คำแนะนำที่ 6: จัดให้มีการล็อบบี้และการสนับสนุน

องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ใช้อิทธิพลในการล็อบบี้เพื่อสนับสนุนกฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น UN ต้องการให้บริษัทต่างๆ หยุดการล็อบบี้หรือสมาคมกับกลุ่มที่พยายามทำลายนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล เช่น ผ่านสมาคมการค้า รายงานเรียกร้องให้องค์กรจัดแนวการสนับสนุนและธรรมาภิบาลให้สอดคล้องกับข้อผูกพันด้านสภาพภูมิอากาศ และจะรวมถึงการเชื่อมโยงค่าตอบแทนผู้บริหารกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้จริง

นี่เป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลในการประสานนโยบายภายนอกและความพยายามในการมีส่วนร่วม รวมถึงการเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำแนะนำของ UN ขอให้องค์กรต่างๆ เปิดเผยความเกี่ยวข้องของสมาคมการค้าต่อสาธารณะ และสนับสนุนสมาคมการค้าเหล่านั้นที่สนับสนุนการดำเนินการเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับเราในฐานะที่ปรึกษา นักบัญชี และนักกฎหมาย คือ เราควรทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคส่วนของเรา และควรเปิดเผยต่อสาธารณะว่าการมีส่วนร่วมกับลูกค้ามีส่วนสนับสนุน Net Zero และจัดการกับการฟอกเขียวอย่างไรบ้าง

คำแนะนำที่ 7: ผู้คนและธรรมชาติในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ภาคการเงินควรมีนโยบายที่จะไม่ลงทุนหรือให้เงินกับธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า และควรกำจัดสินค้าเกษตรที่เป็นการตัดไม้ทำลายป่าออกจากพอร์ตการลงทุนและสินเชื่อภายในปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Net Zero

คำแนะนำที่ 8: การเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่สำคัญในแง่ของความยั่งยืนและสามารถทำได้โดยการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบตามคำแนะนำที่ 1 และความรับผิดชอบทั่วไป

คำแนะนำที่ 9: ลงทุนในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

การจัดทำแผนเปลี่ยนผ่านเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่แผนเปลี่ยนผ่านนั้นต้องยุติธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้เรียกว่า “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” ซึ่งคำนึงถึงความจำเป็นในการปกป้องสิทธิของคนงาน รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนและประเทศที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero สถาบันการเงินและบริษัทข้ามชาติควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการลดการปล่อยคาร์บอนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

คำแนะนำที่ 10: เร่งดำเนินการตามกฎระเบียบและข้อบังคับ

รายงานของ UN ตระหนักดีว่าข้อกำหนดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการบรรลุ Net Zero คือการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม

เนื่องจากความกังวลเรื่องการฟอกเขียว (Greenwashing) เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะต้องแน่ใจว่าคำกล่าวอ้างด้านความยั่งยืนขององค์กรของตนนั้นมีความน่าเชื่อถือและได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานต่างๆ บริษัทในประเทศไทยสามารถบรรลุสิ่งนี้ได้ด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่รักษาความรับผิดชอบขององค์กรเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย


กาเนสัน โคลันเดเวลู
หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย


บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน

บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของเคพีเอ็มจีสามารถช่วยให้คุณเข้าใจและจัดการกับความท้าทายด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้ การให้บริการด้านความยั่งยืนของเคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ให้บริการด้านความยั่งยืนกว่า 500 คนทั่วโลก โดยให้คำปรึกษาและให้บริการด้านความเชื่อมั่นในมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เครือข่ายทั่วโลกของเคพีเอ็มจีมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนมายาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งความเชี่ยวชาญนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของคุณ การให้บริการของเราถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านความยั่งยืนขององค์กร ตั้งแต่รับรองรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กร เคพีเอ็มจีมีประสบการณ์ที่หลากหลายในการทำงานกับองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมการเงิน น้ำมันและเชื้อเพลิง ภาครัฐบาล คมนาคมขนส่ง และกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค เป็นต้น

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน

เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 143 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 265,000 คน

บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง

เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ kpmg.com/governance

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กร เอกชน จำกัด ในอังกฤษ

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

นฤชา ภูติธนารักษ์
อีเมล: naruecha1@kpmg.co.th