ยอดลงทุนเร็กเทคทั่วโลกสูง 18.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 ส่วนยอดลงทุนฟินเทคทั่วโลกลดจากระดับสูงสุดในปี 2564

รายงาน Pulse of Fintech H2’22 ของเคพีเอ็มจีเผย การลงทุนฟินเทคทั่วโลกลดลงจากระดับสูงสุดในปี 2564

รายงาน Pulse of Fintech H2’22 ของเคพีเอ็มจีเผย การลงทุนฟินเทคทั่วโลกลดลงจากระดับสูงสุด...

EN | TH

  • ตลาดฟินเทคทั่วโลกดึงดูดเงิน 164.1 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการทำดีล 6,006 รายการในปี 2565 ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งแม้จะลดลงจากระดับสูงสุดที่ 238.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564
  • การชำระเงินยังคงเป็นหมวดย่อยของธุรกิจฟินเทคที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก โดยดึงดูดการลงทุนรวม 53.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จากรายงาน Pulse of Fintech H2’22 ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) ที่จัดทำขึ้นปีละสองครั้งโดยเคพีเอ็มจี พบว่าการลงทุนในฟินเทคทั่วโลกผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition – M&A) การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity – PE) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital – VC) ลดลงสู่ 164.1 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการทำดีล 6,006 รายการในปี 2565 หลังจากทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 238.9 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 7,321 ดีลในปี 2564 แม้ว่าผลลัพธ์จะต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในปี 2564 แต่ปี 2565 ก็ไม่ใช่ปีที่ย่ำแย่ อันที่จริง ปี 2565 เป็นปีที่ดีที่สุดอันดับสามสำหรับการลงทุนด้านฟินเทคและเป็นปีที่แข็งแกร่งเป็นอันดับสองในด้านปริมาณการซื้อขาย

การลดลงอย่างรวดเร็วของการลงทุนด้านฟินเทคระหว่างช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี 2565 จาก 119.2 สู่ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีดีลมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน M&A แปดรายการ ซึ่งรวมถึงการที่บริษัท Block ในสหรัฐอเมริกาเข้าซื้อกิจการบริษัท Afterpay ในออสเตรเลียที่มูลค่า 27.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเพิ่ม VC สองรายการ ได้แก่ Trade Republic ในเยอรมนีและ Checkout.com ในสหราชอาณาจักร และข้อตกลง PE หนึ่งรายการ คือบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัล Genesis ในสหรัฐอเมริกา

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มีข้อตกลง M&A เพียงสามรายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการซื้อกิจการบริษัท Avalara มูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ การซื้อกิจการบริษัท Billtrust มูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการซื้อกิจการบริษัท Computer Services Inc. มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การระดมทุน VC ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มีมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัท Klarna ในสวีเดน ซึ่งเป็นการปรับลดราคาลงอย่างมีนัยสำคัญ และข้อตกลง PE ที่ใหญ่ที่สุดคือการระดมทุนจำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัท Avant ในสหรัฐอเมริกา

ในระดับภูมิภาค ทวีปอเมริกายังคงมีอิทธิพลในตลาดโลก โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 68.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 โดยที่สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 61.6 พันล้านเหรียญสหรัฐจากยอดลงทุนทั้งหมด ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ดึงดูดเงินได้ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การชำระเงินดึงดูดส่วนแบ่งเงินทุนด้านฟินเทคมากที่สุดในปี 2565 (53.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่เร็กเทค (เทคโนโลยีด้านการกำกับดูแล – Regulatory technology: Regtech) กลับเป็นภาคส่วนธุรกิจที่ร้อนแรงที่สุดของปี โดยการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 18.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565

ประเด็นสำคัญในปี 2565

  • การลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกอยู่ที่ 164.1 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 6,006 ดีล ในปี 2565 ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 238.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 7,321 ดีล ในปี 2564
  • การชำระเงินยังคงเป็นหมวดย่อยที่แข็งแกร่งของการลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกในปี 2565 โดย เร็กเทคเป็นภาคส่วนเดียวที่สามารถต้านแนวโน้มขาลงได้
  • การลงทุนในคริปโทและบล็อกเชนลดลงเหลือ 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 อันเป็นผลมาจากการลดลงของมูลค่า Terra (Luna) ในเดือนพฤษภาคม และการล้มละลายของ FTX ในเดือนพฤศจิกายน
  • มูลค่าข้อตกลง M&A ทั่วโลกลดลงจาก 105.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 73.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 การลงทุน VC ทั่วโลกลดลงจาก 122.9 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 80.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบปีต่อปี การลงทุนเพื่อการเติบโตของ PE ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยลดจากประมาณ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565
  • ทวีปอเมริกาดึงดูดเงิน 68.6 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 2,786 ดีลในปี 2565 โดยสหรัฐอเมริกาคิดเป็นจำนวน 61.6 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 2,222 ดีล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดึงดูดเงิน 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 1,227 ดีล และ ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ดึงดูดเงิน 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 1,977 ดีล
  • การลงทุน VC ขององค์กรทั่วโลกลดลงจาก 62.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 39.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565
  • ขนาดของข้อตกลงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสำหรับทั้งข้อตกลงกับนักลงทุนภายนอกกลุ่มแรกในช่วงสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น หรือ Angel & seed-stage (จาก 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 เป็น 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022) และข้อตกลง VC ระยะเริ่มต้น (จาก 5.75 เป็น 6 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่ขนาดข้อตกลงเฉลี่ยลดลงสำหรับข้อตกลง VC ระยะหลัง (จาก 15 เป็น 13.9 ล้านเหรียญสหรัฐ)

นักลงทุนคริปโทและบล็อกเชนเปลี่ยนโฟกัสไปยังกรณีการใช้งานกับสถาบัน และการกำกับดูแล การจัดการความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย (Governance, risk management and compliance – GRC)

การลงทุนในคริปโทและบล็อกเชนลดลงเหลือ 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 จาก 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 การลดลงนี้เห็นได้ชัดในครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับคริปโทในส่วนของผู้บริโภคและการแลกเปลี่ยนดิ่งลงตามการลดลงของมูลค่า Terra (Luna) ในช่วงท้ายครึ่งแรกของปี 2565 และการล้มละลายของบริษัทป้องกันความเสี่ยงคริปโท (crypto hedge company) Three Arrows Capital ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากความน่าดึงดูดของคริปโทต่อผู้บริโภคลดน้อยลง นักลงทุนจึงหันมาสนใจโซลูชั่นบล็อกเชนที่มีขอบเขตการใช้งานและคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น เช่น การใช้งานกับสถาบันและ GRC โดยปัจจัยนี้อาจผลักดันการลงทุนด้านบล็อกเชนที่หลากหลายมากขึ้นในปี 2566

สหรัฐฯ ผลักดันการลงทุนด้านฟินเทคในทวีปอเมริกา ซึ่งภูมิภาคโดยรวมมีการลงทุนในระยะเริ่มต้นสูงเป็นประวัติการณ์

การลงทุนด้านฟินเทคในทวีปอเมริกาอยู่ที่ 68.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 โดยเงินลงทุนในสหรัฐอเมริกาคิดเป็นส่วนใหญ่ของยอดทั้งหมดในทวีปอเมริกา (61.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อเทียบกันแล้ว บราซิลดึงดูดเงินได้ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และแคนาดาดึงดูดเงินได้ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การลงทุนรวมในทวีปอเมริกาลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี ข้อตกลง Angel & seed-stage ดึงดูดเงินเป็นประวัติการณ์ถึง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 ข้อตกลง Angel & seed-stage ยังมีขนาดข้อตกลงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 3 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบปีต่อปี ทวีปอเมริกายังมีการร่วมลงทุนโดยองค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate Venture Capital – CVC) ที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นปีที่สองในปี 2565 ด้วยเงินลงทุน 18.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 14.9 พันล้านเหรียญสหรัฐของเงินลงทุนทั้งหมด

การลงทุนด้านฟินเทคในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565

การลงทุนด้านฟินเทคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นจาก 50.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 การที่บริษัท Block เข้าซื้อกิจการบริษัท Afterpay ซึ่งให้บริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง (Buy now, pay later) ในออสเตรเลีย มูลค่า 27.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในครึ่งแรกของปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการลงทุนทั้งหมด ผลกระทบของเมกะดีลนี้เห็นได้ชัดเมื่อพิจารณาผลลัพธ์ในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังของปี 2565 แยกจากกัน โดยการลงทุนด้านฟินเทคในครึ่งปีหลังของปี 2565 มีเพียง 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 44.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ผลจากการซื้อกิจการบริษัท Afterpay ทำให้ออสเตรเลียเป็นผู้นำการลงทุนด้านฟินเทคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยเงินลงทุน 30.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในอินเดีย แม้ยอดเงินจะลดลงจาก 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 แต่การลงทุนยังคงแข็งแกร่งที่ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในสิงคโปร์ การลงทุนด้านฟินเทคเพิ่มขึ้นจาก 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบปีต่อปี และการลงทุนด้านฟินเทคในจีนยังคงอ่อนแอมากในปี 2565 โดยมีเพียง 770 ล้านเหรียญสหรัฐ

เงินทุนฟินเทคในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบปีต่อปี

การลงทุนด้านฟินเทคในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ลดลงจาก 79 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 2,379 ดีล ในปี 2564 เป็น 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 1,977 ดีล ในปี 2565 การลงทุนในครึ่งแรกของปี 2565 แข็งแกร่งกว่าในครึ่งหลังของปี 2565 มาก โดยคิดเป็นการลงทุน 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับ 12.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ การไม่มีข้อตกลงด้านฟินเทคมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทำให้ยอดเงินลงทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดในครึ่งแรกของปี 2565 คือการซื้อกิจการบริษัท SIA ในอิตาลี มูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับการซื้อกิจการ Nucleus Financial Group ในสหราชอาณาจักร ที่มีมูลค่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐ ในครึ่งหลังของปี 2565

การลงทุนด้านฟินเทคมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ด้วยความท้าทายของเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อตลาดสาธารณะและกรอบเวลาการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial public offering – IPO) ที่คาดว่าจะยังคงปิดได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกคาดว่าจะยังคงชะลอตัว แม้เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ในขณะที่กิจกรรม M&A เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ขนาดข้อตกลงน่าจะเล็กลงมากเนื่องจากนักลงทุนรอการประเมินมูลค่าของบริษัทระยะสุดท้าย (late-stage companies) เพื่อจ่ายชำระ เร็กเทคมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นภาคส่วนที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในการลงทุนด้านฟินเทค นอกเหนือจากโซลูชั่น B2B ภายในกลุ่มฟินเทคทั้งหมด ในขณะที่การลงทุนคริปโท คาดว่าจะอ่อนแอเป็นพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เนื่องจากนักลงทุนพิจารณากระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (Due diligence) ของตนอีกครั้ง และหน่วยงานกำกับดูแลพิจารณากฎระเบียบด้านคริปโทที่เข้มงวดขึ้น การใช้โซลูชั่นบล็อกเชนในขอบเขตการใช้งานที่กว้างขวางขึ้น รวมถึงกรณีการใช้งานกับสถาบัน การชำระเงินข้ามพรมแดน การเล่นเกม และ สินทรัพย์ดิจิทัลที่แต่ละโทเคนมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถแทนที่กันได้ (Non-fungible token – NFT) น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น

แม้ว่าตลาดฟินเทคทั่วโลกจะอ่อนแอในระยะสั้น แต่แนวโน้มระยะยาวสำหรับการลงทุนฟินเทคยังคงเป็นบวก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของบริการทางการเงินในเขตการปกครองต่างๆ และการมุ่งเน้นที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในการรวมบริการทางการเงินเข้ากับภาคส่วนอื่นๆ


การลงทุนด้านฟินเทคลดลงทั่วโลกในปี 2565 เนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจซึ่งสร้างผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อภาคเทคโนโลยีและความวุ่นวายในแวดวงคริปโท แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงรักษาระดับการลงทุนและแตะจุดสูงสุดใหม่เล็กน้อย แม้ว่าแนวโน้มการลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกในปี 2566 จะลดลง แต่ยังมีความหวังด้านการเติบโตอย่างต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิก เนื่องด้วยแรงหนุนจากความต้องการบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) โซลูชั่นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ที่่ช่วยดำเนินธุรกิจในเรื่องต่างๆ (Software-as-a-Service – SaaS) เทคโนโลยีบล็อกเชน การขยายธนาคารเสมือนจริง (Virtual banking) ซึ่งประเทศไทยเตรียมประกาศใบอนุญาตใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร (Unbanked) หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ (Underbanked) และการเปิดประเทศของจีน

 


คริสโตเฟอร์ ซาวน์เดอร์ส
หัวหน้าฝ่ายธุรกิจบริการด้านการเงิน
กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทย


แนวโน้มฟินเทคในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ครึ่งหลังของปี 2565 เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจฟินเทคทั่วโลก ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง และความท้าทายเฉพาะในตลาด เช่น การขาดการเสนอขายหุ้น IPO และโอกาสในการออกจากตลาด แรงกดดันด้านมูลค่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและแรงกดดันด้านกำไรสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทซื้อตอนนี้จ่ายทีหลัง และเนื่องจากมีสัญญาณเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าสภาวะตลาดจะเริ่มบรรเทาความท้าทายลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การลงทุนด้านฟินเทคจึงคาดว่าจะยังค่อนข้างชะลอตัว แม้ว่าภาคส่วนย่อยของฟินเทคบางส่วนคาดว่าจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าส่วนอื่นๆ

แนวโน้มฟินเทคที่สำคัญ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ได้แก่:

  1. ขนาดข้อตกลง M&A จะค่อนข้างเล็กลง: ความเป็นไปได้ของธุรกรรม M&A ขนาดเมกะ เช่น มูลค่าดีลมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป จะค่อนข้างต่ำ กิจกรรม M&A โดยทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการประเมินมูลค่ามีเสถียรภาพ และบริษัทหรือฟินเทคขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนแข็งแกร่งมองหาโอกาสที่จะเลือกซื้อบริษัทในราคาที่ดี
  2. โซลูชั่น B2B จะยังคงดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง: หลายบริษัททั้งในภาคบริการทางการเงินและภาคอื่นๆ มุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าของลูกค้า โซลูชั่น B2B จะยังคงมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆต่อการลงทุน
  3. ความสนใจในโซลูชั่นบล็อกเชนที่ไม่ใช่คริปโทจะเพิ่มขึ้น: ในขณะที่นักลงทุนหยุดชั่วขณะเพื่อประเมินแนวทางการลงทุนในคริปโทอีกครั้ง นวัตกรรมบล็อกเชนด้านอื่นๆ จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น โซลูชั่นการชำระเงินข้ามพรมแดน เกม และ NFT
  4. โซลูชั่นฟินเทคที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ AI ประเมินความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ และการมีส่วนร่วมของลูกค้า
  5. หน่วยงานกำกับดูแลจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคริปโทมากขึ้น: จากเหตุการณ์ในปี 2565 หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกจะตรวจสอบบริษัทและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคริปโทมากขึ้น
  6. ฟินเทคที่มุ่งเน้นแนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, social and governance – ESG) จะเห็นการเติบโต: ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาล ธุรกิจ และผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ความสนใจและการลงทุนในโซลูชั่นฟินเทคที่สอดคล้องกับ ESG มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมาก การลงทุนอาจมีความหลากหลาย ตั้งแต่แพลตฟอร์มทางการเงินสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงโซลูชั่นเร็กเทคที่เน้นด้าน ESG

ฟินเทคในประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank Licensing Framework) เพื่อเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ คือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยต้นทุนด้านพนักงาน อาคารและสถานที่ที่ลดลง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและครบวงจรขึ้น คาดว่า ธปท.จะออกหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขั้นสุดท้ายและเปิดให้ยื่นคำขอได้ในปี 2566 ส่วนรายชื่อผู้ยื่นคำขอที่ได้รับอนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะประกาศในปี 2567 เบื้องต้นจำกัดไม่เกิน 3 ใบอนุญาต1

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 143 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยในปี FY22 มีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 265,000 คน ในบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี ทั่วโลก บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

กัมปนาท อินทร์ด้วง
อีเมล: kampanati@kpmg.co.th