เคพีเอ็มจีเผยผลสำรวจซีอีโอเทค

ข้อมูลเชิงลึกด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ความเสี่ยง ทาเลนท์ และ ESG ของอุตสาหกรรมเทคปี 2566 เป็นต้นไป

ข้อมูลเชิงลึกด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ความเสี่ยง ทาเลนท์ และ ESG ของอุตสาหกรรมเทค

EN | TH

การสำรวจล่าสุดด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของเคพีเอ็มจี (KPMG Technology Industry CEO Outlook) ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลก 110 แห่ง พบว่าซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85) มองว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อไปอีก 12 เดือน และความกังวลเร่งด่วนที่สุดสำหรับ ‘ซีอีโอเทค’ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม ซีอีโอจำนวนมาก (ร้อยละ 86) มีความมั่นใจในโอกาสเติบโตของบริษัทในอีกสามปีข้างหน้า ทั้งจากการควบรวมกิจการ การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ หรือช่องทางอื่นๆ ทั้งนี้บริษัทเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นในการรักษาบุคลากร รวมถึงการเพิ่มมูลค่าองค์กรโดยการลงทุนด้านไซเบอร์และ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) จะได้รับประโยชน์สูงสุดในระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ซีอีโอเทค มองว่าองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล ควบคู่กับการบริหารจัดการภัยคุกคามจากภายนอกและอุปสรรคของการบริหารภายใน โดยร้อยละ 64 ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ตรงข้ามกับร้อยละ 36 ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน โดยมุมมองดังกล่าวมีความหมายต่อบริษัทเทคโนโลยีดังนี้

เริ่มต้นด้วยกลยุทธ์: ซีอีโอเทค ร้อยละ 69 กล่าวว่ากระบวนการตัดสินใจว่าจะใช้เทคโนโลยีใดนั้นเป็นตัวขัดขวางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในองค์กรของตน จึงต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นเป้าหมายมากกว่ากระบวนการ

ใกล้ชิดกับลูกค้า: มุ่งเน้นการลงทุนโดยตรงเพื่อผลักดันการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด องค์กรต่างๆ ต้องคิดให้แตกต่างในด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งมอบและตอบสนองต่อความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีที่เลือกใช้และกระบวนการทำงานที่ออกแบบมาจะสอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยผสานประสบการณ์ดิจิทัลอันเป็นเลิศเพื่อส่งเสริมความภักดีของลูกค้าทั้งช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี

ผสมผสานคนและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน: บริษัทเทคโนโลยีมีการลงทุนจำนวนมากในโซลูชั่นดิจิทัลใหม่ๆ มาโดยตลอด และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป แต่โซลูชั่นด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ หากมีพนักงานเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจและสามารถใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ ดังนั้นองค์กรจึงต้องนำพนักงานทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงผ่านการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

พิจารณากลยุทธ์การควบรวมกิจการ: การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ภายในองค์กรและการฝึกอบรมที่มีอยู่แบบซ้ำๆ ให้กับพนักงานเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานาน โดยการควบรวมกิจการสามารถเร่งการเติบโตและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ หรือรับทาเลนท์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่องค์กร

ข้อมูลเชิงลึกด้านความเสี่ยง

ภัยคุกคามห้าอันดับแรกต่อการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในช่วงสามปีข้างหน้า ได้แก่ ปัญหาด้านการดำเนินงาน (ร้อยละ14) เทคโนโลยีเกิดใหม่/เทคโนโลยีดิสรัปชั่น (ร้อยละ 12) ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (ร้อยละ 12) ความไม่แน่นอนทางการเมือง (ร้อยละ 11) และอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละ 9) โดยปัจจัยดังกล่าวมีความหมายต่อบริษัทเทคโนโลยีดังนี้

ลดปัญหาการดำเนินงานด้วยการเป็นองค์กรที่เชื่อมต่อกัน: การขาดความสอดคล้องกันระหว่างฟังก์ชั่นและระบบงานอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการส่งมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นให้แก่ลูกค้า ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของบริษัทเทคโนโลยีสามารถมุ่งเน้นได้ทุกกระบวนการและฟังก์ชันการดำเนินงานต่างๆ ทั้งสำนักงานส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า ทั้งนี้องค์กรที่เชื่อมต่อกันจะได้รับข้อมูลเชิงลึก ความคล่องตัว และความสอดคล้องในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มคุณค่าที่ลูกค้าได้รับให้สูงขึ้น ในโลกที่ดิจิทัลต้องมาก่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตระหนักว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นหน้าที่เชิงกลยุทธ์: ความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะด้านไอทีอีกต่อไป แต่เป็นประเด็นสำคัญทางธุรกิจขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความท้าทายในการตรวจจับการโจมตีได้อย่างทันท่วงที ทำให้ต้องใช้ทั้งโซลูชั่นเทคโนโลยีอัตโนมัติและการสร้าง human firewall หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ตระหนักถึงความปลอดภัยด้านไซเบอร์

เทคโนโลยีเกิดใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต: ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งมีแนวโน้มจะตัดสินใจได้ยากในการเลือกลงทุนด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้นำด้านดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะเร่งการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้า แต่ผู้นำด้านดิจิทัลยังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหลัก เช่น ระบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดต้นทุน เมื่อรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันแล้ว จะไม่ใช่แค่การเติบโต แต่เป็นการเติบโตอย่างมีกำไร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่สามารถถูกละเลยได้: แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะถูกจัดให้อยู่ในภัยคุกคามระดับกลาง แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจมีผลกระทบไปสู่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ปัญหาการดำเนินงาน ชื่อเสียงขององค์กร ข้อกังวลด้านกฎระเบียบ และห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ในอนาคตจะมีเศรษฐกิจแค่เพียงประเภทเดียว นั่นคือ “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” และการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บริษัทเทคโนโลยีที่ทำอยู่ตอนนี้ จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีเติบโตตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่

ข้อมูลเชิงลึกด้านทาเลนท์

ทาเลนท์เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในด้านการดำเนินงาน ซึ่งกระตุ้นให้บริษัทเทคโนโลยีปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงาน โดยซีอีโอร้อยละ 67 เห็นว่าพนักงานของตนจะทำงานจากระยะไกลหรือไฮบริดอย่างเต็มที่ในอนาคต เทียบกับเพียงร้อยละ 35 ในอุตสาหกรรมอื่น โดยมุมมองดังกล่าวมีความหมายต่อบริษัทเทคโนโลยีดังนี้

ยอมรับวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน: เนื่องจากบางอุตสาหกรรมและองค์กรบางแห่งมีแผนให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ซีอีโอเทคจะต้องพัฒนาโครงสร้างการทำงานที่เหมาะสมกับพนักงานของตน การรับฟังอย่างกระตือรือร้น การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ และความมุ่งมั่นในการหาแนวทางที่เหมาะสมในระยะยาว จะเป็นกุญแจสำคัญในการมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน ที่จะช่วยลดความเหนื่อยล้า และรักษาพนักงานที่มีทักษะให้อยู่กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลือกการทำงานทางไกลนั้นมีส่วนช่วยขยายกลุ่มทาเลนท์ให้เพิ่มขึ้นเพราะสามารถทำงานได้จากหลากหลายพื้นที่

หลีกเลี่ยงการการตัดสินใจระยะสั้นด้านจำนวนแรงงาน แม้ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ: ความสามารถทางปัญญาเป็นทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับบริษัทเทคโนโลยี ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผู้นำจำเป็นต้องลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรระดับแนวหน้า ซึ่งบริษัทที่พิจารณาการลดจำนวนพนักงาน โดยการตัดสินใจในระยะสั้นเพื่อให้บุคลากรที่มีความสามารถออกจากบริษัทอาจส่งผลเสียในระยะยาว

ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและรักษาทาเลนท์: การลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีในเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลตอบแทนทั้งในแง่ของผลผลิตและการทำงานร่วมกันของพนักงาน กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเริ่มใช้เทคโนโลยีการทำงานอัตโนมัติได้อย่างไม่ลังเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านการทำรายการธุรกรรมต่างๆ ส่งผลให้พนักงานมีอิสระในการเพิ่มพูนทักษะเพื่อส่งมอบงานอื่นๆ ที่ใช้ความรู้เฉพาะทาง ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงแต่ขาดตลาด ทั้งนี้เทคโนโลยีการทำงานอัตโนมัติสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ การเข้าถึงเทคโนโลยี และการเติบโตในสายอาชีพ

อธิบายวัตถุประสงค์ธุรกิจ: วัตถุประสงค์ (Purpose) ของธุรกิจถูกมองว่าเป็นตัวสร้างความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยซีอีโอเทคร้อยละ 75 เชื่อว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรจะมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างคุณค่าต่อพนักงานในองค์กรตลอดสามปีข้างหน้า

ข้อมูลเชิงลึกด้าน ESG

ESG เป็นสิ่งดีสำหรับธุรกิจ แต่ยังคงมีความท้าทายอยู่ โดยซีอีโอเทคร้อยละ 55 เห็นด้วยว่า ESG ช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านการเงิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 ในปีที่แล้ว โดยมุมมองดังกล่าวมีความหมายต่อบริษัทเทคโนโลยีดังนี้

ยอมรับความสำคัญของ ESG ต่อธุรกิจอย่างเปิดเผย: ซีอีโอเทคเห็นพ้องกันมากขึ้นว่า ESG ช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการรักษาทาเลนท์ การเสริมสร้างคุณค่าต่อพนักงาน การดึงดูดลูกค้าที่ภักดี และการเพิ่มทุน

อย่าละทิ้ง ESG ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย: การพิจารณาลดค่าใช้จ่ายด้าน ESG อาจเป็นเรื่องดึงดูดใจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเป็นช่วงที่ควรพิจารณาแนวทาง ESG ในระยะยาวและเน้นความพยายามด้าน ESG เป็นสองเท่า ซีอีโอเทคที่รักษาสมดุลการดำเนินงานด้าน ESG ไว้ได้ ไม่เพียงแต่จะปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านการเงินเท่านั้น แต่จะได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากพนักงาน นักลงทุน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อีกด้วย

ลงทุนในเทคโนโลยีห่วงโซ่อุปทานแบบเรียลไทม์: บริษัทเทคโนโลยีควรเฝ้าระวังระบบห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผู้นำด้านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกำลังเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นสองเท่า ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ end-to-end แบบเรียลไทม์ เพื่อระบุจุดที่มีปัญหาเพื่อปรับปรุงตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า

พยายามวัดความก้าวหน้าและประสิทธิผลของ ESG: การเพิ่มการวัดผลและการกำกับดูแลเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและโปร่งใสมากขึ้นของ ESG เป็นหนึ่งในตัวเร่งกลยุทธ์ ESG ที่สำคัญที่สุดของบริษัทเทคโนโลยี ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการทราบมากขึ้นว่าบริษัทต่างๆ มีส่วนช่วยเหลือสังคมอย่างไร และหน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

สร้างการเชื่อมโยงที่แน่นแฟ้นระหว่างฟังก์ชันต่างๆ: ตัวอย่างองค์กรที่ยืดหยุ่นที่มีทีมงานภายในเชื่อมโยงกันอย่างดี มีส่วนช่วยให้ฝ่ายการเงินรู้ว่าทีม ESG กำลังทำอะไร จึงพิจารณาย้ายการรายงานผลด้าน ESG บางส่วนไปยังฝ่ายการเงินเพื่อให้การรายงานผลด้าน ESG มีความเข้มงวดและการควบคุมเช่นเดียวกับการรายงานทางการเงิน

เกี่ยวกับการสำรวจ

รายงาน KPMG CEO Outlook ฉบับที่ 8 ซึ่งสำรวจซีอีโอ ทั่วโลกจำนวน 1,325 รายในไตรมาสที่สามของปี 2565 ให้ข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับมุมมอง กลยุทธ์ และกลยุทธ์การวางแผนของซีอีโอ ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดเป็นผู้นำองค์กรที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และมากกว่าหนึ่งในสามมีรายได้ต่อปีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 110 รายจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

มุมมองและความคิดเห็นที่แสดงในที่นี้เป็นความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจ และไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของมุมมองและความคิดเห็นของเคพีเอ็มจี

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน

เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 143 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 265,000 คน

บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง

เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า

ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ kpmg.com/governance

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

พลอย พยัฆวิเชียร
อีเมล: ploi@kpmg.co.th