ซีอีโอทั่วโลกคาดเศรษฐกิจโลกซบเซาเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ และจะฟื้นในระยะ 3 ปี
ซีอีโอทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น
ซีอีโอทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น
EN | TH
- ซีอีโอมากกว่า 8 ใน 10 คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยกว่าครึ่งคาดว่าจะไม่รุนแรงและเป็นระยะเวลาสั้นๆ
- ซีอีโอจำนวน 7 ใน 10 เชื่อว่าภาวะถดถอยจะขัดขวางการเติบโตที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม
- อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นในด้านการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มของบริษัทเอง
กรุงเทพฯ 11 ตุลาคม 2565 – การสำรวจ KPMG 2022 CEO Outlook ซึ่งสอบถามซีอีโอมากกว่า 1,300 คนจากองค์กรที่ใหญ่ที่สุดของโลกเกี่ยวกับกลยุทธ์และมุมมองในอนาคต พบว่า ผู้นำร้อยละ 58 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ และไม่รุนแรง ผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 14 ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นหนึ่งในข้อกังวลเร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นปี 2565 (ร้อยละ 9) ในขณะที่ความเหนื่อยล้าจากการที่ต้องอยู่กับโรคระบาดมาเป็นเวลานาน อยู่ในอันดับต้น (ร้อยละ 15)
ในปีหน้า ซีอีโอทั่วโลกมากกว่า 8 ใน 10 คน (ร้อยละ 86) คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยร้อยละ 71 คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทสูงถึงร้อยละ 10 ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ (ร้อยละ 73) อย่างไรก็ตาม สามในสี่ (ร้อยละ 76) ได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันองค์กรจากภาวะเศรษฐกิจที่จะถดถอยไปเรียบร้อยแล้ว
แม้จะมีข้อกังวลเหล่านี้ ผู้บริหารระดับสูงก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (ร้อยละ 73) มากกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ (ร้อยละ 60) เมื่อเคพีเอ็มจีได้สำรวจซีอีโอ 500 คน สำหรับ CEO Outlook Pulse นอกจากนี้ ผู้นำร้อยละ 71 เชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ปีข้างหน้า (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในต้นปี 2565) และเกือบ 9 ใน 10 (ร้อยละ 85) เชื่อมั่นในการเติบโตขององค์กรในช่วง 3 ปีข้ปางหน้า
วิกฤตที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น โรคระบาดทั่วโลก ความตึงเครียดทางการเมือง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และปัญหาทางการเงิน ได้เกิดขึ้นติดต่อกันในระยะเวลาสั้นๆ และส่งผลต่อมุมมองของซีอีโอทั่วโลก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจคือความกังวลอันดับต้นสำหรับผู้นำธุรกิจในขณะนี้ แต่ก็น่ายินดีที่จะเห็นความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริหารเกี่ยวกับบริษัทของตนเองและแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว
เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สร้างความวุ่นวายให้กับแวดวงธุรกิจเป็นอย่างมาก ผลการสำรวจของเราทำให้เห็นข้อดีท่ามกลางวิกฤติ ว่าการต่อสู้เพื่อเอาชนะบททดสอบเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารมีความมั่นใจเรื่องความยืดหยุ่นของแต่ละองค์กรมากยิ่งขึ้น และมีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน
บิลล์ โทมัส
ประธาน และซีอีโอ
เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
ประธาน และซีอีโอ
เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
ด้วยความท้าทายและปัญหาใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยต้องมั่นใจว่าพนักงานของท่านมีทักษะที่เหมาะสมในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่น การเพิ่มทักษะและเรียนรู้ทักษะใหม่เป็นกุญแจสำคัญ นอกจากนี้ การกระจายห่วงโซ่อุปทานและรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายจะช่วยบรรเทาความท้าทายและการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว
ผลการสำรวจที่สำคัญ
ประเด็นการคงจำนวนและลดจำนวนพนักงาน อยู่ภายใต้การพิจารณาอย่างหนักสำหรับซีอีโอ
จากความวุ่นวายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการลาออกครั้งใหญ่อาจค่อยๆ ลดลง โดยซีอีโอร้อยละ 39 ได้ดำเนินการคงจำนวนพนักงานแล้ว และร้อยละ 46 กำลังพิจารณาลดจำนวนพนักงานในช่วง 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ในเชิงบวก โดยมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่คาดว่าจำนวนพนักงานจะลดลงอีก
ความไม่แน่นอนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์โดยการนำดิจิทัลมาใช้ในระยะยาว
ในขณะที่ความไม่แน่นอนในปัจจุบันผลักดันให้ซีอีโอให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลต่อไป ธุรกิจร้อยละ 40 ได้หยุดกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไว้ชั่วคราว และอีกร้อยละ 37 วางแผนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ในระยะยาว ซีอีโอมากกว่าหนึ่งในสี่เชื่อว่าการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและการเชื่อมต่อทางธุรกิจมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้า ร้อยละ 74 ยังเห็นด้วยว่าการลงทุนเชิงกลยุทธ์ด้านดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ บรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ขององค์กรนั้นเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก
การให้ความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและเทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และก่อให้เกิดดิสรัปชันได้กลายเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อการเติบโตของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ซีอีโอยังได้ระบุความเสี่ยงด้านอื่น ๆ อีกหลายประการที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเติบโต ได้แก่ ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ปัญหาด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงาน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เช่น ความเข้าใจที่คาดเคลื่อนกับลูกค้าหรือความคิดเห็นสาธารณะ สร้างความกังวลให้กับซีอีโอมากขึ้น เมื่อเทียบกับต้นปี 2565 (ร้อยละ 10 ในเดือนสิงหาคมเทียบกับร้อยละ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์) เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ องค์กรร้อยละ 51 หยุดทำงานกับรัสเซียและร้อยละ 34 วางแผนที่จะทำเช่นนั้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ใช่ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดขององค์กรอีกต่อไป เพราะองค์กรต่างๆ เตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีมากขึ้น
การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ตกอันดับความเสี่ยงต่อการเติบโต จาก 5 อันดับแรกในปีที่แล้ว โดยมีซีอีโอเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่ระบุว่าเป็นความเสี่ยงสูงสุด (ร้อยละ 17 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565) อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ทวีความสำคัญ โดยซีอีโอร้อยละ 77 ระบุว่าองค์กรมองว่าการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเป็นหน้าที่เชิงกลยุทธ์และเป็นแหล่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซีอีโอจำนวน 7 ใน 10 คน (ร้อยละ 73) เชื่อว่าความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ยังก่อให้เกิดความกังวลต่อการโจมตีทางไซเบอร์ขององค์กร
กว่าสามในสี่ขององค์กร (ร้อยละ 72) มีแผนรับมือการโจมตีจากแรนซัมแวร์ (Ransomware) อย่างไรก็ตาม ซีอีโอจำนวนมากขึ้นตระหนักว่าองค์กรของตนไม่พร้อมสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ โดยเกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 24) ยอมรับเช่นนั้นในปี 2565 เทียบกับร้อยละ 13 ในปี 2564
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกดดันให้เพิ่มความรับผิดชอบด้าน ESG
ในด้านความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารประสิทธิภาพของ ESG ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซีอีโอเกือบหนึ่งในห้า (ร้อยละ 17) ระบุถึงความสงสัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการฟอกเขียว (Greenwashing) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ในปี 2564 ซีอีโอมากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 38) กล่าวว่าองค์กรของตนไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราว ESG ที่น่าสนใจได้ดีพอ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสามในสี่ (ร้อยละ 72) ยังเชื่อว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเพ่งเล็งประเด็น ESG ต่างๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ ผลกระทบต่อสภาพอากาศ ฯลฯ มากยิ่งขึ้นต่อไป
ในแง่ทาเลนท์ เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2565 ผู้บริหารระดับสูง เชื่อว่าการมีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือเป้าหมายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 22) กล่าวว่าการขาดทักษะและความเชี่ยวชาญเป็นอุปสรรคต่อการนำโซลูชันไปใช้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เมื่อต้นปีนี้
แรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้การบรรลุเป้าหมาย ESG ชะลอตัวลง
ซีอีโอระดับโลกตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติการด้าน ESG ต่อธุรกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงินและขับเคลื่อนการเติบโต ผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 69 สังเกตเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการรายงานและความโปร่งใสเกี่ยวกับ ESG ที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 58 ในปี 2564
ซีอีโอเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45) เห็นด้วยว่าความก้าวหน้าด้าน ESG ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงินขององค์กร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37 ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป ซีอีโอจำนวนครึ่งหนึ่งได้หยุดโครงการ ESG ลงชั่วคราวหรือพิจารณาโครงการ ESG ที่มีอยู่หรือที่วางแผนไว้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และร้อยละ 34 ได้ดำเนินการหยุดโครงการชั่วคราวไปแล้ว
ผลการสำรวจ KPMG CEO Outlook ฉบับสมบูรณ์ มีการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพกับซีอีโอของ AMP, Bankinter, Fujitsu, Ricoh Europe, Tata Steel และ ServiceNow
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบสำรวจ ได้ที่ http://www.kpmg.com/CEOoutlook และสามารถติดตาม @KPMG บน LinkedIn และ Twitter สำหรับการอัปเดตและการสนทนาด้วยแฮชแทก #CEOoutlook
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:
พลอย พยัฆวิเชียร
อีเมล: ploi@kpmg.co.th
บรรณาธิการ
เกี่ยวกับการสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี
KPMG CEO Outlook ครั้งที่ 8 ซึ่งได้สำรวจซีอีโอ 1,325 คน ระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคมถึง 24 สิงหาคม 2565 ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิดและกลยุทธ์ในการวางแผนของซีอีโอ ไม่เพียงแต่เทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน แต่ยังมาจากการสำรวจ CEO Pulse Survey ของเคพีเอ็มจีอีกด้วย โดยดำเนินการระหว่างวันที่ 12 มกราคม ถึง 9 กุมภาพันธ์ 2565 มีซีอีโอ 500 คน ร่วมตอบแบบสอบถาม ก่อนเกิดความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน
ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีรายได้ต่อปีมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และหนึ่งในสามของบริษัทที่ทำการสำรวจมีรายได้ต่อปีมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การสำรวจรวบรวมผู้นำจาก 11 ตลาดหลัก (ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และ 11 ภาคอุตสาหกรรมหลัก (การจัดการสินทรัพย์ ยานยนต์ การธนาคาร ผู้บริโภคและการค้าปลีก พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ประกันภัย วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต การผลิต เทคโนโลยี และโทรคมนาคม) หมายเหตุ: บางจำนวนตัวเลขอาจรวมกันได้ไม่ถึงร้อยละ 100 เนื่องจากการปัดเศษ
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน
เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 144 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 236,000 คน ที่ทำงานในบริษัทสมาชิกทั่วโลก KPMG Law และ Global Legal Services ปัจจุบันดำเนินการในเขตการปกครอง 80 แห่ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษากฎหมายกว่า 2,850 คน
บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง
เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ home.kpmg/governance
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ