ข่าวและบทความ | 26 สิงหาคม 2563

ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ซีอีโอทั่วโลกให้ความสำคัญด้านพนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent) และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรเป็นอันดับต้น

ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ซีอีโอทั่วโลกให้ความสำคัญด้านพนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent) และ....

  • ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกช่วงก่อนและหลังโควิด-19 เผยว่าประเด็นที่ซีอีโอให้ความสำคัญและมองว่าเป็นความเสี่ยงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
  • พนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent) เป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญที่ซีอีโอในองค์กรใหญ่ต้องเผชิญ
  • ซีอีโอส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะรักษาสภาพแวดล้อมและการลดลงของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้นช่วงล็อกดาวน์
  • หนึ่งในสามของซีอีโอมีความมั่นใจที่ลดลงเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในอีกสามปีข้างหน้า

กรุงเทพฯ 26 สิงหาคม 2563 – ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ซีอีโอของบริษัทชั้นนำทั่วโลกมองว่าความเสี่ยงด้านพนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent) เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเติบโตขององค์กร และยังให้ความสำคัญไปที่การสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและทบทวนจุดมุ่งหมายขององค์กร โดยเคพีเอ็มจีได้ทำการสำรวจ 2 ครั้ง คือ ก่อนการระบาดของโควิด-19 ในเดือนมกราคม และอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นการวิจัยแรกที่สำรวจความเปลี่ยนแปลงของการจัดลำดับความสำคัญและความกังวลของซีอีโอก่อนและหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

การสำรวจ 2020 KPMG CEO Outlook พบว่า เป้าหมายสำคัญของผู้นำได้เปลี่ยนไปอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance – ESG) การทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working) และการเปลี่ยนแปลงโดยนำดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) ได้ถูกเร่งรัดให้เกิดเร็วขึ้น ในเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ซีอีโอร้อยละ 32 มีความมั่นใจลดลงจากตอนต้นปี อย่างไรก็ตาม ซีอีโอยังคงคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตของประเทศตนเอง (ร้อยละ 45 มีความมั่นใจ) และมีความมั่นใจในความยืดหยุ่นขององค์กรตนเองในอีก 3 ปีข้างหน้า 

บิลล์ โทมัส ประธานและซีอีโอ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ซีอีโอให้ความสำคัญอย่างมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าธุรกิจต่างต้องเร่งความเร็วในการรับมือกับความท้าทายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้นำธุรกิจทั่วโลกพยายามจัดการกับความไม่แน่นอนด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด วิกฤตนี้ได้เร่งกลยุทธ์ที่มีอยู่แล้วในด้านการเปลี่ยนแปลงโดยการนำดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) และความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายด้านอื่น ๆ การวางแผนสำหรับอนาคตนั้นยากกว่ามาก โดยเฉพาะวิธีการทำงานในอนาคตและการแก้ไขปัญหา จึงไม่น่าแปลกใจที่ซีอีโอให้ความสำคัญกับการจัดการ Talent เพื่อรักษาและขยายธุรกิจในอนาคต”

ผลการสำรวจที่สำคัญ

ความเสี่ยงด้าน Talent พุ่งขึ้น 11 ลำดับขั้น และเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจที่สำคัญที่สุด

ในเดือนมกราคม ซีอีโอได้จัดอันดับความเสี่ยงด้าน Talent ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าความเสี่ยงอื่น ๆ อีก 11 ประการที่ส่งผลต่อการเติบโต อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 Talent ถูกจัดเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อธุรกิจ โดยอยู่ในอันดับสูงกว่าความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อซีอีโอ

ซีอีโอที่เข้าร่วมการสำรวจจำนวน 4 ใน 10 คน (ร้อยละ 39) ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากไวรัสโควิด-19 ต่อตนเองหรือต่อบุคคลในครอบครัว ทำให้ร้อยละ 56 มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การตอบสนองต่อการระบาดของโรค ผู้บริหารระดับโลกยังได้รับผลกระทบทางการเงินด้วยเช่นกัน โดยประมาณ 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) กล่าวว่ามีการปรับค่าตอบแทนเนื่องจากวิกฤตโควิด-19

การเปลี่ยนแปลงโดยนำดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน

ซีอีโอมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์และคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลนั้นช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน คล่องตัว และมุ่งเน้นลูกค้ามากขึ้น ผู้นำส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงโดยนำดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) ขององค์กรตนมีความรวดเร็วขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการพัฒนาที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นดิจิทัล โดยซีอีโอร้อยละ 30 กล่าวว่ากระบวนการดังกล่าวทำให้องค์กรก้าวกระโดดไปข้างหน้าได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซีอีโอจำนวนสองในสาม (ร้อยละ 67) มีแนวโน้มที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยีมากกว่าในด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานกรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า “ซีอีโอในอาเซียนยังคงให้ความสำคัญในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับต้น ๆ โดยในบรรดาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น (Technology Disruptors) ซีอีโอในอาเซียนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีคลาวด์เป็นอย่างมาก โดยร้อยละ 79 ให้ความสำคัญในปริมาณมากหรือมากที่สุด (Significant or very significant) อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีอาจทำให้ความต้องการพนักงานลดน้อยลง ร้อยละ 80 ของซีอีโอในอาเซียนที่เข้าร่วมการสำรวจมองว่าเทคโนโลยีจะสร้างงานได้มากกว่าเข้ามาทดแทนตำแหน่งงาน (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 68) จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้กับพนักงาน”

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานกรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว

การมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ขององค์กรและ ESG ที่เพิ่มขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซีอีโอกล่าวว่าองค์กรของตนมีบทบาทมากขึ้นในสังคม ซีอีโอจำนวนสองในสาม (ร้อยละ 65) กล่าวว่า สังคมต้องการให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ของสังคมมากขึ้น และสามในสี่ (ร้อยละ 76) เห็นด้วยว่าในฐานะผู้นำ ซีอีโอมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้ผู้บริหารทั่วโลกให้ความสำคัญกับบทบาทของตนในสังคมและทำให้องค์กรถูกจับตามองมากขึ้นในแง่การดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง  ซีอีโอรู้สึกว่าการพัฒนาดังกล่าวทำให้มีการทบทวนว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้นเป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคาดหวังหรือไม่ โดยซีอีโอร้อยละ 79 ยอมรับว่าต้องประเมินจุดมุ่งหมายขององค์กรอีกครั้งเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และซีอีโอส่วนดังกล่าว (ร้อยละ 79) กล่าวว่ามีความเข้าใจและเข้าถึงจุดประสงค์ขององค์กรมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้

การพัฒนานี้ทำให้ ESG อยู่ในวาระสำคัญลำดับต้น ๆ ของซีอีโอ และในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ เกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) ของผู้นำได้เปลี่ยนไปมุ่งเน้นองค์ประกอบทางสังคมของ ESG ถึงแม้ว่าจะมีการให้ความสนใจในประเด็นสังคมเพิ่มขึ้น แต่หลายภาคส่วนยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยซีอีโอกลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 65) ตระหนักดีว่าการจัดการความเสี่ยงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการรักษาตำแหน่งงานของพวกเขาไว้ในอีกห้าปีข้างหน้า

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ กล่าวว่า “เช่นเดียวกัน ซีอีโออาเซียนมองว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของแบรนด์คือ การมีวัตถุประสงค์ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับในสังคม (ร้อยละ 27) การได้รับความไว้วางใจจากคนรุ่นใหม่และพนักงาน (ร้อยละ 25) ปัจจัยด้าน ESG (ร้อยละ 17) และความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 12) โดยองค์กรไม่อาจมุ่งเน้นเพียงแค่ยอดขาย และผลกำไรได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสัมคมที่มีความกระตือรือร้นและมีบทบาทอย่างจริงใจในการมอบประโยชน์ให้สังคมเพื่อให้แบรนด์อยู่รอด เจริญเติบโต และได้รับความไว้วางใจ”

บิลล์ โทมัส กล่าวสรุปว่า “วิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนนิยามการเป็นผู้นำธุรกิจที่ดีและคุณสมบัติที่ซีอีโอควรมี ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของซีอีโอที่น้อยคนจะคาดการณ์มาก่อนได้ การมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมยังคงมีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบทางสังคมเป็นวาระที่มีความสำคัญสูงกว่ามากในสภาวะปัจจุบัน ซีอีโอมีการเข้าถึงและเข้าใจวัตถุประสงค์ขององค์กรมากขึ้นและใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจทางธุรกิจในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้”

การวิจัยครั้งนี้ได้มีการสัมภาษณ์ซีอีโอเชิงลึก ขององค์กรเหล่านี้: Hellenic Petroleum, Kyocera, NatWest (เดิมคือ RBS), Thomson Reuters, Salsano Group, Verizon และ Zurich Insurance ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิจัยครั้งนี้ได้ที่ http://bit.ly/CEOOutlook2020 หรือติดตามความคืบหน้าได้ที่ @KPMG บน LinkedIn และ Twitter โดยค้นหาจาก #CEOoutlook

 

English version: Talent and corporate responsibility top the list of CEO concerns in the wake of the COVID-19 crisis

บรรณาธิการ:

เกี่ยวกับ KPMG CEO Outlook

KPMG CEO Outlook ให้มุมมองเชิงลึก 3 ปีย้อนหลัง จากซีอีโอกว่าพันรายทั่วโลก ในแง่มุมขององค์กรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เคพีเอ็มจี ได้ทำการสำรวจซีอีโอ 1,300 รายในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบเต็มที่จากวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เคพีเอ็มจีได้ทำการติดตามสำรวจซีอีโอกลุ่มเดิมจำนวน 315 รายในช่วงวันที่ 6 กรกฎาคม ถึง 5 สิงหาคม เพื่อวิเคราะห์แนวความคิดของซีอีโอที่เปลี่ยนไปเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตดังกล่าว โดยซีอีโอที่เข้าร่วมในการสำรวจทั้งสองรอบนี้ มาจากองค์กรที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1 ใน 3 มาจากองค์กรที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงการสำรวจเดือน มกราคม/กุมภาพันธ์นั้นรวมการสำรวจซีอีโอที่มาจาก 11 ประเทศหลักแล้ว (คือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และมาจาก 11 อุตสาหกรรมหลัก (คือ การบริหารจัดการสินทรัพย์ ยานยนต์ การธนาคาร ผู้บริโภคและการค้าปลีก พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ประกันภัย ชีววิทยาศาสตร์ (Life sciences) การผลิต เทคโนโลยี และโทรคมนาคม  ซึ่งการสำรวจติดตามผลในครั้งที่สองได้รวมถึงซีอีโอจากอุตสาหกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา และมาจากตลาดของ 8 ประเทศหลัก (คือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)

*ตัวเลขผลวิจัยอาจมีการปัดเศษ

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฏหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เราดำเนินธุรกิจใน 147 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 219,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก เคพีเอ็มจีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศและมีพนักงานมากกว่า 46,000 คน

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

พลอย พยัฆวิเชียร
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2034
อีเมล: ploi@kpmg.co.th

Connect with us