KPMG holds Cyber Security Challenge 2017, raising awareness among students in the wake of cyber attack (Thai Language)
KPMG holds Cyber Security Challenge 2017 (TH Language)
เคพีเอ็มจี จัดงาน KPMG Cyber Security Challenge 2017 เพื่อปลูกฝังเยาวชนไทยรู้ทันภัยคุกคามทางไซเบอร์
กรุงเทพฯ, วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 – เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เคพีเอ็มจี ประเทศไทย จัดการแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge 2017 โดยมีนิสิต นักศึกษาจำนวน 12 ทีม จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ร่วมประลองความท้าทายจากโจทย์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การแข่งขันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และให้ความรู้กับเยาวชนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบัน
ในการแข่งขัน นิสิต นักศึกษาแต่ละทีมจะได้ใช้ทักษะและความสามารถในด้านการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Digital Forensics) การตรวจสอบช่องโหว่ของเว็บและโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile and Web Application Exploitation) ช่องโหว่ของระบบเครื่องข่ายและระบบปฏิบัติการ (Network and System Exploitation) การวิเคราะห์การทำงานของมัลแวร์ (Malware Analysis) การทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) การเข้ารหัส (Cryptography) และการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ ในเวลาเดียวกัน
หลังจากการแข่งขันที่เข้มข้นในการทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ตลอดทั้งวัน ทีม CPCUCTF จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ และทีม 555+ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัลรองชนะเลิศไปครอบครอง
“เคพีเอ็มจี เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักในเรื่องภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ โดยเฉพาะในประเทศไทย แม้ภาครัฐมียุทธศาสตร์หนุนกฎหมายรักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์ และเตรียมจัดตั้งกรรมการระดับชาติด้านความมั่นคงไซเบอร์ แต่การรับรู้เรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ในระดับประเทศและในภาคธุรกิจควรมีเพิ่มขึ้นเช่นกัน” คุณศรีสุชา ลิ่มทอง กรรมการบริหาร ฝ่ายที่ปรึกษาการจัดการธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “ปัจจุบัน อาชญากรรมไซเบอร์ไม่ใช่ภัยไกลตัวอีกต่อไป และการแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge 2017 ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มของเราในการช่วยสร้างและสนับสนุนความสามารถของเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานในอนาคต เพื่อจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้”
ไม่ใช่เพียงแค่ในอาเซียน อาชญากรรมไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางระบบความปลอดภัยไซเบอร์ อาทิ WannaCry Ransomware ที่จู่โจมระบบคอมพิวเตอร์ไปกว่า 200,000 ระบบ ใน 150 ประเทศ และในเดือนที่ผ่านมา เพียง 1 เดือน มีการรายงานการโจมตีทางไซเบอร์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ การออกมายอมรับของ Yahoo เกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้กว่า 3 พันล้านบัญชีอาจถูกขโมยจากการแฮกระบบครั้งใหญ่เมื่อปี 2013 ซึ่งไม่ใช่แค่ 1 พันล้านบัญชี ตามที่ Yahoo เปิดเผยไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และล่าสุด Bad Rabbit Ransomware ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคยุโรป
อาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน ช่องโหว่จากความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการรายงาน Harvey Nash/KPMG CIO Survey 2017 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 1 ใน 3 ของผู้บริหารด้านไอที (32%) ระบุว่า องค์กรของพวกเขาถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 45% จากปี 2013 และเพียง 1 ใน 5 ของผู้บริหารด้านไอที (21%) กล่าวว่า องค์กรของพวกเขามีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการโจมตีไซเบอร์ในระดับที่ดี ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวลดลงจาก 29% ในปี 2014
“ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่มากมาย ที่ไม่จำกัดเพียงแค่คอมพิวเตอร์อีกต่อไป ของใช้ภายในบ้านกลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านอัจฉริยะด้วยนวัตกรรมไอโอที เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของเราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน เทคโนโลยียังสามารถเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการถูกโจมตีทางไซเบอร์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้เต็มไปด้วยประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ทั้งยังช่วยให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อีกด้วย” นายสุธรรม ธิติอนันต์ปกรณ์ หนึ่งในตัวแทนทีม CPCUCTF จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาเยาวชนที่เปี่ยมความสามารถในการเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และเรารู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นศักยภาพที่ยอดเยี่ยมของนิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นเยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างทางดิจิทัลของประเทศเรา” คุณศรีสุชา กล่าว
ทีม CPCUCTF และทีม 555+ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับ และจะได้รับการสนับสนุนจากเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge ที่จะขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
English Language: KPMG holds Cyber Security Challenge 2017, raising awareness among students in the wake of cyber attack
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษา เราดำเนินงานใน 152 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 189,000 คนที่ทำงานร่วมกันในบริษัทสมาชิกทั่วโลก บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเคพีเอ็มจีจะถือเป็นสมาชิกของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล โคออเปอเรทีฟ (KPMG International Cooperative) เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทสัญชาติสวิส ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกเคพีเอ็มจีเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และมีอิสระตามกฎหมาย
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,500 คน
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:
พลอย พยัฆวิเชียร
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2034
อีเมล: ploi@kpmg.co.th
แพรวพรรณ หลวงไผ่พล
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2141
อีเมล: praewpan@kpmg.co.th
Some or all of the services described herein may not be permissible for KPMG audit clients and their affiliates or related entities.
© 2025 KPMG Phoomchai Holdings Co., Ltd., a Thai limited liability company and a member firm of the KPMG global organization of independent member firms affiliated with KPMG International Limited, a private English company limited by guarantee. All rights reserved.
For more detail about the structure of the KPMG global organization please visit https://kpmg.com/governance.