ประกันสังคมในอาเซียน
ประกันสังคมในอาเซียน
มีข่าวว่าประกันสังคมของไทยจะขยายฐานค่าจ้างสำหรับการคิดเงินสมทบออกไป จากเดิมที่นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายที่อัตรา ร้อยละ 5 ของค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท เป็นของค่าจ้างไม่เกิน 20,000 บาท ทำให้เงินสมทบที่นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายในจำนวนสูงสุดจากเดิมเดือนละ 750 บาท เพิ่มเป็น 1,000 บาท อาจดูเหมือนเพิ่มไม่มาก แต่สำหรับนายจ้างที่มีพนักงานจำนวนมากและยิ่งปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะต้องสมทบในอัตราสูงสุด 1,000 บาทต่อคน เท่ากับมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ขณะที่ลูกจ้างเองก็อาจยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยอาจทำให้ไม่อยากจะถูกหักเงินสมทบเพิ่ม
หน่วยงานรัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้าง เข้าใจในสิทธิประโยชน์ที่จะได้ในอนาคต จุดประสงค์ของประกันสังคมก็เพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งประกันสังคมของไทยจะครอบคลุมถึงความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สังเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ทั้งนี้ อัตราที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบที่ร้อยละ 5 นั้น ร้อยละ1.5 กันไว้สำหรับประกันเจ็บป่วยและตาย ขณะที่ร้อยละ 0.5 สำหรับประกันการว่างงาน ส่วนที่เหลือร้อยละ 3 สำหรับประกันชราภาพ ซึ่งเฉพาะส่วนที่ประกันชราภาพเท่านั้นที่จะได้ เมื่อ อายุครบ 55 ปี ซึ่งประกันสังคมก็มีแผนที่จะขยายการจ่ายเป็น อายุครบ 60 ปี สาเหตุหนึ่งก็มาจากการก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ แรงงานที่ต้องอาศัยทักษะ ยังมีความต้องการ ดังนั้นจึงมีแรงงานในวัยที่เกิน 55 ปี ขึ้นไปอยู่มาก การปรับระยะเวลาการจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็น 60 ปีก็น่าจะสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
ลองมาดูอัตราประกันสังคมในประเทศสมาชิกอาเซียนว่าเป็นอย่างไร ทุกประเทศสมาชิกในอาเซียนมีระบบประกันสังคมหรืออาจจะเป็นในรูปเงินกองทุนบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่มีลักษณะเดียวกันคือเป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายสมทบ เพื่อเป็นประกันในเรื่องสุขภาพ การว่างงาน หรือจ่ายเป็นเงินบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุการทำงาน ซึ่งกรณีเป็นกองทุนก็จะเป็นกองทุนภาคบังคับ ต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยที่เป็นเรื่องของความสมัครใจของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่น บรูไน ไม่มีประกันสังคม แต่มีกองทุนบำนาญ คือ TAP (Tabung Amanah Perkerja) กับ SCP (Supplemental Contributory Pension Scheme) หรือมาเลเซียมี EPF (Employee’s provident fund) และในสิงค์โปร์เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ CPS (Central Provident Fund ) ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายสมทบโดยมีรัฐเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งกองทุนที่จัดการโดยรัฐเหล่านี้ส่วนใหญ่บังคับกับบุคคลที่เป็นคนสัญชาติหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศนั้นๆ
ดังนั้น หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเหล่านี้ บางครั้งจะต้องนำเรื่องนี้เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วยเพราะแม้บุคคลจะย้ายถิ่นฐานมาทำงานในประเทศอื่น ๆ แต่อาจจะยังต้องหรือมีความต้องการที่จะสมทบกองทุนดังกล่าวต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วบุคคลเหล่านี้ก็จะกลับประเทศของตนจึงย่อมต้องการที่จะสมทบอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสิทธิในเรื่องเงินบำนาญไว้ หรือบางครั้งการย้ายถิ่นฐานไปทำงานนอกประเทศ อาจจะทำให้เสียสิทธิไปซึ่ง นายจ้างแม้ไม่ได้อยู่ในประเทศนั้น ๆ อาจจะต้องชดเชยในส่วนนี้ให้ก็จะเป็นตันทุนทีเพิ่มขึ้นในการจ้างแรงงาน โดยทั่วไปการจ่ายสมทบเข้ากองทุนของนายจ้าง มักจะถือเป็นเงินได้พนักงานเมื่อมีการจ่ายออกจากกองทุนให้แก่พนักงาน แต่ถ้าเป็นกองทุนของประเทศอื่นแล้วอาจจะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของพนักงานทันทีที่จ่ายสมทบ ดังนั้นหากกิจการจะมีการจ้างแรงงานจากประเทศทีมีกองทุนในลักษณะดังกล่าวและต้องชดเชยให้พนักงานเพื่อเป็นการจูงใจการจ้างงานแล้วควรจะต้องดูเรื่องภาระภาษีที่ตามมาด้วย ในเรื่องอัตราส่วนใหญ่อัตราสมทบของนายจ้างจะสูงกว่าของลูกจ้าง จะมีสิงคโปร์ ที่อัตราสมทบลูกจ้างสูงกว่า และ กัมพูชาที่ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบ
กรณีพนักงานไทยไปทำงานในประเทศสมาชิก ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องจ่ายประกันสังคมหรือกองทุนภาคบังคับอื่นในประเทศนั้นหรือไม่เพื่อปฎิบัติให้ถูกต้อง ในส่วนประกันสังคมไทยหากไปทำงานต่างประเทศและไม่ได้รับเงินได้ในไทยแล้ว กิจการก็ไม่มีหน้าที่ที่ต้องหักจากพนักงานและจ่ายสมทบเข้ากองทุน ซึ่งจะทำให้พนักงานขาดจากกองทุนประกันสังคมและอาจมีผลต่อการนับระยะเวลาในการจ่ายสมทบในกรณีจะใช้สิทธิในอนาคต ดังนั้นจึงควรให้พนักงานนำส่งประกันสังคมด้วยตนเองต่อไปเพื่อนับอายุการจ่ายอย่างต่อเนื่อง หรือหากยังมีหน้าที่การงานบางส่วนในไทยก็อาจมีการคงเงินเดือนบางส่วนจ่ายในไทยและคงประกันสังคมไว้ต่อไป แต่เงินได้ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีไทย