มาตรการภาษีสำหรับแรงงานสูงอายุ

มาตรการภาษีสำหรับแรงงานสูงอายุ

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเปิดเผยรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าอัตราจ้างงานผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในรายงานระบุว่า อัตราการจ้างแรงงานสูงอายุ หรือคนทำงานที่อยู่ในช่วงอายุ 65 – 69 ปี เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่ครองอันดับหนึ่งของประเทศที่มีผู้สูงอายุอยู่ในตลาดแรงงานมากที่สุดเป็น ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งก็เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
มาตรการภาษีสำหรับแรงงานสูงอายุ

เรื่องการเพิ่มขึ้นของแรงงงานสูงอายุ จะว่าไปก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะในสองสามปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์จากรายงานของหลาย ๆ หน่วยงานในเรื่องของการที่ประชาคมโลกกำลังก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ หลาย ๆ ประเทศก็ตระหนักในเรื่องนี้  มีการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะ แรงงานที่มีทักษะสูง การจ้างงานที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะสูง ทำให้ต้องมีการจ้างแรงงานสูงอายุ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงาน ในหลายประเทศจึงมีการสนับสนุนการขยายช่วงอายุการทำงานของแรงงาน หรือ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีมีการจ้างแรงงานสูงอายุ
 

จากการสำรวจในกลุ่มอาเซียน ดูเหมือนว่าสิงคโปร์ จะเป็นประเทศ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน  ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่สิงคโปร์มีการขยายเกณฑ์อายุการจ้างลูกจ้างกลับเข้ามาทำงานได้จนถึงอายุ 67 ปี โดยมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2560 เป็นต้นมา หากพนักงานเข้าเงื่อนไขคือผ่านเกณฑ์ความพอใจในการประเมินผลการทำงานจากนายจ้าง และมีสุขภาพที่ยังสามารถทำงานต่อได้  ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ลูกจ้างได้รับคือการหักลดหย่อน (EIR : Earned Income Relief) ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ลูกจ้างสิงคโปร์ที่อายุ 60 ปีหรือมากกว่า สามารถหัก EIR ได้ถึง 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่ลูกจ้างอายุ 55-59 ปี จะสามารถหัก EIR ได้  6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และลูกจ้างที่อายุน้อยกว่า 55 ปี จะหักได้เพียง 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
 

นอกจากนี้นายจ้างที่จ้างลูกจ้างสูงอายุก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสิงคโปร์เรียกว่า Special Employment Credit  ภายใต้มาตรการนี้ กรณีมีการจ้างลูกจ้างที่มีอายุ 55 ปีหรือมากกว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ในอัตราร้อยละ 8 สำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ไม่เกิน 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อเดือนต่อคน โดยมาตรการนี้จะมีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งขยายเพิ่ม 3 ปี หลังจากมาตรการได้สิ้นสุดไปเมื่อธันวาคม 2559 นอกจากนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้นายจ้างมีการจ้างงานลูกจ้างสูงวัยที่อายุถึง 65 ปีหรือมากกว่าต่อไปอีก  รัฐบาลสิงคโปร์จะให้เงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างลูกจ้างดังกล่าวหากจ้างลูกจ้างอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ซึ่งมาตรการนี้จะสิ้นสุดพร้อมกันในเดือน ธันวาคม 2562 อย่างไรก็ดีเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลให้แก่นายจ้างจะถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของนายจ้างด้วย
 

ในปัจจุบันประมวลรัษฎากรของไทยก็มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้สูงอายุในการยกเว้นรายได้อันเนื่องมาจากอายุของผู้มีเงินได้ กล่าวคือถ้าผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทย 180 วันหรือมากกว่าในปีภาษี) และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี รายได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่มีเงินได้โดยเฉพาะเลย

นอกจากนี้นายจ้างที่จ้างลูกจ้างสูงอายุสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สองเท่าสำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างที่อายุ 65 ปีขึ้นไปกรณีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน หากเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท แล้วนายจ้างจะไม่ได้สิทธิในการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มต่อย่างใด กล่าวคือสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายเงินเดือนผู้สูงวัยนั้นจะใช้ได้เฉพาะกรณีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทเท่านั้น
 

นอกจากสิงคโปร์และไทยก็ไม่พบว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมีมาตรการพิเศษในเรื่องนี้แต่อย่างใด อย่างที่กล่าวข้างต้น อินโดนีเซีย เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของอัตราการเพิ่มขึ้นของแรงงานสูงอายุ  แต่อินโดนีเซียไม่มีมาตรการภาษีที่พิเศษใด ๆ สำหรับลูกจ้างสูงอายุและนายจ้างที่จ้างลูกจ้างสูงอายุ  อินโดนีเซียกำหนดอายุการเกษียณของลูกจ้างไว้ที่อายุ 55 ปี โดยหากจะจ้างลูกจ้างที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปก็ให้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซึ่งการที่กฎหมายกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 55 ปี ทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายประกันสังคมกรณีลูกจ้างทีอายุถึง 55 ปีหรือมากกว่า เช่นเดียวกับเวียดนามก็ไม่มีมาตรการภาษีใด ๆ ในกรณีนี้ แต่มีการกำหนดเงื่อนไขการจ้างแรงงานสูงอายุว่าจะต้องเป็นงานที่เหมาะสมและไม่เป็นงานอันตรายต่อผู้สูงอายุและลุกจ้างมีสุขภาพที่ดี ซึ่งมีการกำหนดให้มีการตรวจร่างกายปีละ สองครั้งสำหรับลูกจ้างชายที่อายุมากกว่า 60 ปี และลูกจ้างหญิงที่อายุมากกว่า 55 ปี ทั้งนี้เวียดนามมีการกำหนดเกณฑ์เกษียณอายุลูกจ้างชายและหญิงไม่เท่ากัน ทั้งนี้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ก็ไม่มีมาตรการภาษีใด ๆ เป็นพิเศษแก่ลูกจ้างสูงอายุ

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us