แนวโน้มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

แนวโน้มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ....

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการค้าขายสินค้าดิจิทัลแบบไร้พรมแดนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกระแสการทบทวนกฎหมายในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในหลาย ๆ ประเทศ จึงมีการทบทวนกฎหมายภายในและหรือออกมาตรการเรื่องการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไทย ที่กำลังทบทวนมาตรการภาษีในเรื่องนี้อยู่

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
แนวโน้มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อปี 2558  สิงคโปร์และมาเลเซียได้ออกแนวทางในเรื่องภาษีของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการให้แนวทางในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากกิจการที่มีการขายสินค้าหรือบริการทางอิเล็กทรอนิคส์ จากแนวทางที่ออกโดยสองประเทศพบว่านอกจากแนวทางโดยทั่วไปแล้วยังมีการให้แนวทางโดยคำนึงถึงรูปแบบการประกอบกิจการด้วย โดยประเด็นหลักคือการพิจารณาว่ารูปแบบการประกอบกิจการแบบใดถือได้ว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีถิ่นฐานในมาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ มีการประกอบกิจการในประเทศและต้องเสียภาษีสำหรับเงินได้จากรายได้ที่ได้จากหรือในประเทศของตน รวมถึงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่ในประเทศ การเสียภาษีก็มักไม่แตกต่างกับผู้ประกอบการทั่วไป เช่นเดียวกับประเทศไทย ถ้าเป็นผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ภาระภาษีก็จะเหมือนกับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์  ที่เป็นประเด็นสนใจของทุกประเทศและกำลังอยู่ในการทบทวนของหลายประเทศก็คือการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบทางอิเล็กทรอนิคส์ต่างประเทศ  โดยเฉพาะการขายสินค้าดิจิทัลที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า ไม่มีการนำเข้าสินค้าทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขาดหายไปโดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ในการค้าขายสินค้าดิจิทัล โดยทั่วไปมีการกล่าวถึงอยู่สองลักษณะ คือ   B2B (Business to Business)  และ B2C (Business to Consumer) ซึ่งในกรณี B2B ผู้ซื้อจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นนิติบุคคล และอยู่ในระบบภาษีอยู่แล้ว ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม มักจะไม่มีปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรณีนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีการกำหนดภาระหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในประเทศ เมื่อมีการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการไปให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศ เป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผู้ซื้อในไทยซื้อสินค้าดิจิทัลจากผู้ประกอบการมาเลเซียมาใช้ในไทย โดยที่มาเลเซียไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการ หรือ มีสำนักงานหรือสาขาในไทย กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้ผู้ซื้อในไทยมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร

 

โดยทั่วไปถ้าเป็นลักษณะ B2B ผู้ซื้อในไทยที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรก็สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ซื้อที่เป็นกิจการได้มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบภาษีอยู่แล้ว ดังนั้น กรมสรรพากรก็สามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้  แต่ถ้าเป็นกรณี B2C ผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคและไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะกำหนดเหมือนกับ B2B แต่เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็อาจทำให้ในส่วนนี้ขาดหายไปทำให้รัฐขาดรายได้จากส่วนนี้ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการทบทวนกฎหมายภาษี ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นประเด็นหลักที่ถูกนำมาทบทวนหรือพิจารณา เมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรไทยก็ได้มีการออกร่างกฎหมายเพื่อเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งไปที่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีถิ่นฐานในประเทศไทย ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเน้นการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเน้นไปที่สองประเด็นหลัก กล่าวคือกรณีใดที่จะถือว่าผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรเป็นผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยและต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย และการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นที่ผู้ปฎิบัติยังต้องการให้มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม ทำให้เมื่อมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจึงมีผู้ลงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่าผู้เห็นด้วย

 

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้อีกรอบหนึ่ง โดยร่างกฎหมายใหม่ที่ออกมาได้มีการตัดทอนให้เหลือเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสาระสำคัญของร่างนี้คือการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้ที่ไม่ได้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และได้มีการใช้บริการในประเทศไทย ที่มีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มิให้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการในประเทศไทย และไม่สามารถนำภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยเรียกเก็บมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนจากกรมสรรพากรได้ และไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี

 

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายได้รวมถึงวิธีการจดทะเบียน การยื่นภาษี  และการชำระภาษี  โดยให้กระทำผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งกรมสรรพากรจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะนับได้ว่าไทยก้าวหน้ากว่าประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่ากรมสรรพการจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกหรือไม่ ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับความคิดเห็นจนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us