Thailand Tax Updates - 26 October 2017

Thailand Tax Updates - 26 October 2017

เปิดอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-กัมพูชา

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
เปิดอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-กัมพูชา

เปิดอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-กัมพูชา

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (อนุสัญญาภาษีซ้อน) ซึ่งเป็นไปตามพันธะภายใต้  AEC Blueprint  กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ได้ทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศใดๆ เลยจนกระทั่งเดือนมิถุนายนปีที่แล้วได้เซ็นอนุสัญญาภาษีซ้อนกับสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนและในโลก  

 

ปัจจุบัน อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 20 และภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่มีการจ่ายเงินได้จากกัมพูชาไปต่างประเทศ คือร้อยละ 14  สำหรับเงินได้เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า ค่าสิทธิ และค่าบริการบางประเภท อนุสัญญาภาษีซ้อนจะช่วยให้ภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลดลงหรือไม่มีเลย 

 

ภายใต้ร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา มีการกำหนดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีจ่ายค่าสิทธิ ไว้ที่อัตราไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของไทยคือร้อยละ 15 และของกัมพูชาคือร้อยละ 14  ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระภาษีให้แก่กิจการไทย ที่มีรายได้ค่าสิทธิจากกัมพูชา ถึงแม้ว่าภาษีที่ถูกหักในกัมพูชาจะนำมาเป็นเครดิตภาษีไทยได้กล่าวคือเอามาหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยที่กิจการไทยต้องเสียจากเงินได้ก้อนเดียวกันในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ แต่ในทางปฏิบัติ บางครั้งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอาจเป็นต้นทุนของกิจการอันเนื่องมาจากกิจการไทยมีภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากกว่าภาษีที่ต้องชำระ หรือขาดทุนไม่มีภาษีที่ต้องเสีย หรือไม่มีเอกสารมาใช้เป็นหลักฐานในการขอเครดิต เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำกับประเทศอื่นๆ ก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีกว่า เนื่องจากบางอนุสัญญาภาษีซ้อนมีการกำหนดเพดานอัตราไว้ระหว่าง ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 ตามประเภทของค่าสิทธิ

 

ทั้งนี้ อนุสัญญาฉบับนี้ได้ให้นิยามค่าสิทธิ รวมถึงสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือ วิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายถึงค่าตอบแทนในการได้ใช้อุปกรณ์ได้ หรือ ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้กรณีที่บริษัทไทยจ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ไปให้บริษัทกัมพูชา บริษัทผู้จ่ายในไทยควรหักภาษีในอัตราร้อยละ 10  แทนร้อยละ 15 ตามประมวลรัษฎากร

 

ในเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้มีเรื่องหนึ่งซึ่งแตกต่างจากอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับที่ไทยทำกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็คือ  ภายใต้ร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-กัมพูชา ได้มีการแยกบทที่เกี่ยวกับรายได้ที่เข้านิยาม  “Technical  Services” ออกมาเป็นบทเฉพาะ ซึ่งไม่เคยมีในสัญญาฉบับใดเลย  อนุสัญญาภาษีซ้อนได้ให้นิยาม Technical Services รวมถึงการบริการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ  (Managerial Services ) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วค่าบริหารจัดการอาจเป็นได้ทั้งค่าสิทธิซึ่งจะมีภาระหัก ณ ที่จ่าย หรือ กำไรจากธุรกิจ ซึ่งจะไม่มีภาระหัก ณ ที่จ่ายหากผู้ให้บริการไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศคู่สัญญา ทั้งนี้ จะถือเป็นประเภทใดนั้นต้องพิจารณาลักษณะของงานบริการเป็นกรณีๆ ไป  

 

ในทางปฏิบัติจึงอาจมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่ารายได้จากการให้บริหารจัดการหรือรายได้ในทำนองเดียวกันควรเป็นรายได้ภายใต้บท Technical Services หรือ กำไรจากธุรกิจ เพราะจะมีผลต่อการหักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนี้บทที่เกี่ยวกับรายได้ เงินปันผล  ดอกเบี้ย ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ กล่าวคือ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผลจะไม่เกินร้อยละ 10  และจากดอกเบี้ยจะไม่เกินร้อยละ 10 กรณีผู้รับเป็นสถาบันการเงิน และร้อยละ 15 กรณีผู้รับประเภทอื่นๆ 

 

ในส่วนของผลได้จากทุน ซึ่งรวมถึงรายได้ที่เป็นกำไรจากการขายหุ้น อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิเก็บภาษีจากกำไรจากการขายหุ้นได้ภายใต้กฎหมายภายในของตน  ดังนั้น หากเป็นเรื่องการซื้อขายหุ้น ภาระภาษียังคงเดิมตามกฎหมายภายในอนุสัญญาภาษีซ้อนไม่ได้บรรเทาในส่วนนี้ 

 

อีกเรื่องทีจะกล่าวถึงคือการกำหนดนิยามของการเป็นสถานประกอบการถาวร ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการประกอบหรือโครงการติดตั้งหรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับโครงการนั้น หากโครงการหรือกิจกรรมในประเทศคู่สัญญามีระยะเกินกว่า 6 เดือน ก็จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในประเทศคู่สัญญานั้น หรือหากเป็นกิจกรรมการสำรวจหรือขุดค้นธรรมชาติ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรหากดำเนินกิจกรรมระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันแล้วเกินกว่า 90 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใดๆ 

 

ในส่วนของสถานประกอบการถาวรกรณีมีการให้การบริการรวมทั้งการบริการให้คำปรึกษาผ่านลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใด โดยที่กิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกัน (สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการต่อเนื่อง) ภายในประเทศคู่สัญญา เป็นระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 183 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก็จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในประเทศคู่สัญญานั้น ผลของการมีสถานประกอบการถาวรในประเทศคู่สัญญา เช่น บริษัทไทยส่งพนักงานคนไทยเข้าไปให้บริการคำปรึกษาในกัมพูชามีระยะเวลาเกินกว่า 183 วันภายในระยะเวลา12 เดือน ก็จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในกัมพูชามีผลให้ต้องเสียภาษีและปฏิบัติในเรื่องภาษีในกัมพูชา เสมือนหนึ่งมีการตั้งสาขาในกัมพูชา  ดังนั้นนอกจากการศึกษากฎหมายภาษีภายในประเทศแล้วหากกิจการที่จะไปดำเนินการในกัมพูชาควรศึกษาอนุสัญญาภาษีซ้อนด้วยว่าจะสามารถผ่อนคลายภาระภาษีได้หรือไม่ 

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us