Thailand Tax Updates - 29 June 2017
Thailand Tax Updates - 29 June 2017
ความเคลื่อนไหวในมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนของไทยและอาเซียน
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา กรมสรรพากรไทย ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เรื่องมาตรการป้องกัน การกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (พ.ร.บ Transfer Pricing) เดิมทีคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ Transfer Pricing แล้วเมื่อ เดือน พฤษภาคม 2558 ซึ่งต่อมาร่างดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปลายปี 2559
อย่างไรก็ดีร่างฉบับที่กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นฉบับนี้มีความแตกต่างในรายละเอียดจากร่างที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอยู่บ้าง สาระสำคัญของร่างฉบับนี้ก็คือ มีการเพิ่มมาตรา 71 ทวิ และ มาตรา 71 ตรีในประมวลรัษฎากร โดยย่อคือร่างมาตรา 71 ทวิ ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหากพบว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์และการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรได้กำหนด หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระ ทั้งนี้มาตรานี้ได้ให้คำนิยามของ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน” ไว้ว่า (1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด (2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด หรือ (3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
ในเรื่องของการจัดทำเอกสารราคาโอนร่างมาตรา 71 ตรี กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่มีรายได้เกินกว่ารายได้ขั้นต่ำตามจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนด และยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และร่างมาตรานี้ได้เพิ่มกำหนดระยะเวลาการตรวจสอบกล่าวคือ ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายงานดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี อาจแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันซึ่งมีรายได้เกินกว่ารายได้ขั้นต่ำตามจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับวิเคราะห์การกำหนดราคาโอนของธุรกรรมระหว่างกันตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และผู้ได้รับแจ้งต้องปฏิบัติตามภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติได้ อธิบดีจะขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
นอกจากร่างมาตรา 71 ทวิ และ ตรี ดังกล่าวแล้วร่าง พรบ Transfer Pricing ฉบับนี้ยังกำหนดให้เพิ่ม ร่างมาตรา 35 ตรี กำหนดโทษปรับอาญาสำหรับผู้ใดที่ไม่ยื่นรายงานหรือเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา 71 ตรี หรือยื่นรายงานหรือเอกสารหรือหลักฐานโดยแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท ( ซึ่งลดลงจากเดิมสี่แสนบาทในร่างฉบับแรก )
นอกจากไทยแล้วในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียนก็มีการเคลื่อนไหวในเรื่องมาตรการเพื่อป้องกันการกำหนดราคาโอนกันมาก มีทั้งการออกเป็นแนวทางหรือกฎหมายให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติ รวมทั้งเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบรายการระหว่างกัน อินโดนีเซียจัดเป็นประเทศ ที่มีการเคลื่อนไหวในมาตรการนี้อย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม G20 ที่มีพันธะร่วมกับกลุ่มประเทศใน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ในเรื่องมาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่า ซึ่งอินโดนีเซียได้ออกกฎหมาย Transfer Pricing เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 กำหนดให้มีการจัดทำเอกสารราคาโอน ซึ่งต้องพร้อมส่งมอบภายใน สี่เดือนหลังจากสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี หากผู้เสียภาษีที่ถึงเกณฑ์ต้องจัดทำเอกสารราคาโอนไม่จัดทำและ/หรือไม่นำส่งภายในกำหนดเวลาก็อาจจะถือว่าได้มีการกำหนดราคาโอนโดยไม่เป็นไปตามราคาตลาดอันจะมีผลให้ต้องเสียค่าปรับได้ เวียดนามเป็นอีกประเทศที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เวียดนามได้มีออกกฎระเบียบเรื่องราคาโอนออกมาใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 กำหนดให้ต้องมีเอกสารราคาโอนภายใน เก้าสิบวันนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และต้องนำส่งภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่สรรพากรเวียดนาม ถัดมาก็สิงคโปร์ ที่ได้ออกแนวทางป้องกันราคาโอนใหม่ เมื่อ12 มกราคม 2560 ขยายข้อกำหนดในเรื่องมาตรการราคาโอนจากฉบับเดิมที่ออกและมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียภาษีที่มีรายการระหว่างบริษัทในกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับราคาโอน ในขณะที่มีการทำรายการระหว่างกัน และพร้อมให้ตรวจสอบ โดยหากเจ้าหน้าที่สรรพากรของสิงคโปร์ร้องขอให้นำส่งจะต้องส่งมอบภายใน 30 วัน เช่นเดียวกับมาเลเซีย ที่กำหนดให้มีการส่งมอบเอกสารราคาโอนภายใน 30 วันเมื่อร้องขอโดยเจ้าหน้าที่สรรพากรมาเลเซีย ทั้งนี้ในมาเลเซียนอกจากการเพิ่มของการตรวจสอบในประเด็นราคาโอนจากสถิติของการตรวจสอบที่เสร็จสิ้นแล้วในปีที่ผ่านมา จาก 78 เรื่องในปี 2555 เพิ่มเป็น 250 เรื่องในปี 2558 ยังมีข้อกำหนดจากหน่วยงานอื่นๆ นอกจากกรมสรรพากร เช่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Central Bank of Malaysia มีการกำหนดให้ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องตรวจสอบรายการระหว่างกันของสถาบันการเงินพร้อมทั้งทำรายงานนำส่ง เป็นต้น
นอกอาเซียนเองโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการเคลื่อนไหวใน เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันราคาโอนกันอย่างมากซึ่งการการแก้ไขประมวลรัษฎากรของไทยดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในเรื่อง Transfer Pricing โดยเฉพาะ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกอาเซียน ผู้ประกอบการจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ทั้งในไทยและประเทศที่ได้เข้าไปลงทุนเพื่อจะได้เตรียมพร้อมและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.
KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity. Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.