Thailand Tax Updates - 28 April 2017

Thailand Tax Updates - 28 April 2017

ภาษีในอินโดนีเซีย

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
ภาษีในอินโดนีเซีย

เมื่ออาทิตย์ก่อนมีข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่ากระทรวงพร้อมจะผลักดันการส่งออกไปอินโดนีเซีย และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเล็งเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพสูงทางการค้าการลงทุน และประชาชนมีกำลังซื้อสูง อินโดนีเซียถือเป็นตลาดใหญ่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน หรือประมาณ ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของกลุ่มอาเซียน  กรุงจาการ์ตาซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น เป็นที่ตั้งของสำนักงานต่างๆ  มีชนชั้นกลางและผู้ที่มีกำลังซื้ออยู่มาก รวมทั้งมีท่าเรือใหญ่ที่สุดเป็นจุดกระจายสินค้า

 

จากข่าวนั้น กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้บริการข้อมูลในเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา จะเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลการค้า การจัดตั้งธุรกิจ และข้อมูลทางการตลาดเป็นต้น ในเมื่ออินโดนีเซียอยู่ในความสนใจ วันนี้จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีในอินโดนีเซีย

 

ในปัจจุบันอินโดนีเซียเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอินโดนีเซียในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งสูงกว่าไทย แต่ถ้าหากเข้าเงือนไขตามที่กำหนดก็อาจจะได้ลดอัตราภาษีถึงครึ่งหนึ่ง เช่น ในกรณีที่มีรายได้ไม่เกิน  4.8 พันล้านรูเปีย เป็นต้น  สาขาของต่างประเทศที่เข้าไปประกอบกิจการและมีรายได้จากอินโดนีเซียก็ต้องเสียภาษีในอัตรานี้เช่นกัน ถ้ากิจการมีผลขาดทุนก็สามารถยกยอดขาดทุนสะสมไปใช้หักรายได้ในปีถัดๆ ไปได้ไม่เกินห้ารอบบัญชี และมีบางกรณีภายใต้ข้อกำหนดพิเศษสามารถยกไปได้ถึงสิบปี อินโดนีเซียใช้ระบบ  self-assess เช่นเดียวกับไทยคือผู้เสียภาษีมีหน้าที่ประเมินภาษีตนเองเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในสี่เดือนนับจากวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี  ทั้งนี้กำหนดการยื่นภาษีสามารถขอขยายได้อีกสองเดือน

 

อินโดนีเซียมีการใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีหลักเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือไม่เกิน 48 พันล้านรูเปีย ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของอินโดนีเซียคือร้อยละ 10  โดยทั่วไปการส่งออกสินค้าจะเสียภาษีที่อัตราศูนย์ ขณะที่ส่งออกบริการหรือบริการที่ใช้ในต่างประเทศบางประเภทอาจจะสามารถใช้อัตราศูนย์ได้  กรณีนิติบุคคลต่างประเทศมีรายได้ที่จ่ายในหรือจากอินโดนีเซีย  จะต้องเสียภาษีในอินโดนีเซีย โดยผู้จ่ายในอินโดนีเซีย จะหักภาษี ณ ที่จ่าย  โดยอัตราจะอยู่ที่ ร้อยละ 20 เช่นจ่าย เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ

 

อย่างไรก็ดีอินโดนีเซียมีการทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (อนุสัญญาภาษีซ้อน) กับหลายประเทศมากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย แต่ในอาเซียนเองอินโดนีเซียยังไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับสามประเทศคือ เมียนมา ลาว และ กัมพูชา การมีอนุสัญญาภาษีซ้อนจะช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ซ้ำซ้อนได้บางส่วนแต่ที่สำคัญคือ การจะใช้สิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อนได้นั้น ผู้รับเงินได้ในต่างประเทศจะต้องมีหลักฐานจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีในประเทศของตนมายืนยันว่าเป็นผู้มี่ถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญาตามอนุสัญญาภาษีซ้อน เช่น กรณีผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอินโดนีเซียได้รับเงินปันผลจากบริษัทอินโดนีเซียก็จะถูกหักภาษีในอัตราร้อยละ 20  ตามกฎหมายอินโดนีเซีย แต่ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย อัตราภาษีที่อินโดนีเซียควรหักได้อาจจะลดเหลือไม่เกินร้อยละ 15  หากผู้รับเงินได้ที่เป็นนิติบุคคลไทยต้องการใช้สิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อนก็ต้องขอหนังสือยืนยันความเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทยจากกรมสรรพากรไทย เรียกว่า  Certificate of Residence ซึ่งอินโดนีเซียจะมีแบบฟอร์มเฉพาะ (Form DGT 1/DGT 2)  อย่างไรก็ดี โดยปกติกรมสรรพากรไทยจะออกตามแบบฟอร์มของตนเอง ดังนั้นในทางปฏิบัติควรจะแจ้งความต้องการพิเศษให้กรมสรรพากรไทยทราบ เพราะหากไม่มีหลักฐานตามที่กรมสรรพากรอินโดนีเซียต้องการแล้ว อาจทำให้ผู้จ่ายเงินในอินโดนีเซียปฏิเสธที่จะใช้สิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อนได้  ผู้ประกอบการไทยที่มีรายได้จากอินโดนีเซียและประสงค์จะใช้ความคุ้มครองอนุสัญญาภาษีซ้อนควรจะขอให้ผู้จ่ายเงินในอินโดนีเซียยืนยันเอกสารที่จะใช้เพื่อการขอใช้สิทธิในอนุสัญญาภาษีซ้อน

 

นอกจากนี้เรื่องภาษีที่อยู่ในความสนใจอย่างมากขณะนี้คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับราคาโอน  (Transfer Pricing) อันเนื่องมาจากรายการระหว่างบริษัทในกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นสมาชิกในกลุ่ม G20 ซึ่งมีพันธะร่วมกับกลุ่มประเทศใน OECD  (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ในเรื่องมาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าหรือที่เรียกว่า BEPS (Base Erosion and Profit Shifting)  ซึ่งแผนปฏิบัติการ (เรียกว่า OECD ‘s action plan) ที่ตกลงกันจะทำให้ประเทศใน OECD และ G20 ต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่ตกลงกัน  ซึ่งหนึ่งในมาตรการคือเรื่อง  Transfer Pricing  ซึ่งอินโดนีเซียได้ออกกฎหมาย Transfer Pricing เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559 กำหนดให้มีการจัดทำเอกสารราคาโอนซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารสามประเภท คือ Local File, Master File และ Country By Country Reporting ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อเสนอแนะตาม OECD’s action plan ซึ่งหากผู้เสียภาษีที่ถึงเกณฑ์ต้องจัดทำแต่ละประเภทเอกสารไม่จัดทำ และ/หรือ ไม่นำส่งภายในกำหนดเวลาก็จะมีค่าปรับตามกฎหมาย  ในแต่ละประเทศนอกจากตัวบทกฎหมายแล้วบางครั้งผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่นหลักปฏิบัติในเรื่องการตรวจสอบภาษี  ซึ่งอินโดนีเซียถูกจัดให้เป็นประเทศลำดับต้นๆ ในเรื่องของความยากหากกิจการถูกตรวจสอบภาษี  ดังนั้นกิจการอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ

 

หมายเหตุ *ข้อมูลในบทความเป็นข้อมูลเบื้องต้นควรตรวจสอบกฎหมายภายในประเทศ 

© 2024 KPMG Tax and Legal Advisers, a Belgian Civil Cooperative Company with Limited Liability (burg. CVBA/SCRL civile) and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us