Thailand Tax Updates - 30 March 2017
Thailand Tax Updates - 30 March 2017
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ระยะนี้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยว่าหลังจากสิ้นสุดการขยายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ7 ในวันที่ 30 กันยายน 2560 เริ่มมีการเกิดคำถามว่าทิศทางภาษีมูลค่าเพิ่มไทยหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร เดิมทีเมื่อมีการขยายเวลาอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีกหนึ่งปีในปีที่แล้ว ก็มีการพูดกันว่าจะมีการขึ้นอัตราในปีถัดไป เมื่อใกล้เวลาจะสิ้นสุดในปีนี้ก็เริ่มมีความสนใจกันว่าจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ดีเร็วๆนี้รัฐบาลได้ประกาศว่ายังไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้ แน่นอนว่ารัฐต้องการรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และจากการแก้ไขภาษีบุคคลธรรมดาที่ทำให้รัฐได้ภาษีน้อยลง แต่หลายๆ ภาคส่วนมองว่ายังต้องประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวก่อน
การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งกระทบต่อกำลังการใช้จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้กิจการเป็นผู้เรียกเก็บจากผู้บริโภคและนำส่งกรมสรรพากร แน่นอนว่าการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นซึ่งก็จะกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ในช่วงปีที่ผ่านมารัฐเองได้มีการออกมาตรการในเรื่องภาษีที่ส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลต่างๆมาหักเป็นค่าลดหย่อน หรือการให้นิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนเป็นต้น การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจะสวนทางกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่รัฐอาจจะออกมาในอนาคต อย่างไรก็ดีรัฐก็อาจชดเชยรายได้จากภาษีใหม่ๆ ทั้งภาษีมรดก และ ภาษีที่ดิน รวมถึงการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสรรพามิตรใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีผลในปีนี้
ถ้าเปรียบเทียบกับแนวโน้มโลกจะพบว่ามีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะในประเทศอาเซียนดูเหมือนว่ามีการเคลื่อนไหวในเรื่องอัตราภาษีนิติบุคคลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเพียงสามประเทศคือไทยลดจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 เวียดนามลดจากร้อยละ 25 เหลือเท่าไทยคือร้อยละ 20 ขณะที่มาเลเซียมีการลดอัตราจากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 24 ในปี พ.ศ. 2559 แต่พบว่าไม่มีการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเลยมีเพียงมาเลเซียที่เพิ่งเริ่มใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก ก็ถือว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยไม่แตกต่างจากเพื่อนบ้านในอาเซียนโดยฟิลิปปินส์มีอัตราสูงสุดที่ ร้อยละ 12 และมาเลเซียมีอัตราน้อยสุดคือร้อยละ 6 ในขณะที่บรูไนไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือประเภทอื่นๆ ที่คล้ายกัน
สำหรับผู้ประกอบกิจการแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เป็นต้นทุนของกิจการ ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการนำภาษีขายคือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้บริโภคหักด้วยภาษีซื้อคือภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจ่ายไปจะเป็นต้นทุนของกิจการกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่เป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
อย่างประเทศไทยผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าปีไหนถึง 1.8 ล้านบาทแล้วก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและถือเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดไปแม้ว่าในบางปีจะมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทก็ตาม ในประเทศสมาชิกก็มีหลักเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน เช่น สิงคโปร์หากมีรายได้ไม่เกินหนึ่งล้านดอลลาร์สิงคโปร์ก็ไม่ต้องจดเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มาเลเซียไม่เกินห้าแสนริงกิต ลาวไม่เกิน 400 ล้านกีบ อินโดนีเซียไม่เกิน 48 พันล้านรูเปียห์ ในขณะที่เวียดนามดูเหมือนจะไม่มีขั้นต่ำที่ยกเว้น เป็นต้น
ดังนั้นหากเข้าไปประกอบกิจการในต่างประเทศก็ต้องศึกษาก่อนว่ากิจการที่จะประกอบไม่ว่ากิจการขายหรือบริการอยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศนั้นๆหรือไม่ และมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เพราะหากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้าภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปพร้อมกับค่าใช้จ่ายก่อนจดภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจะไม่สามารถนำมาขอคืนหรือหักออกจากภาษีขายในอนาคตได้ และเนื่องจากหลักการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือผู้ประกอบการต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างระหว่างภาษีขายที่เรียกเก็บจากลูกค้าหักด้วยภาษีซื้อที่ได้ชำระพร้อมรายจ่าย โดยทั่วไปกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีการกำหนดภาษีซื้อที่ไม่สามารถนำมาหักจากภาษีขายได้หรือที่เรียกว่าภาษีซื้อต้องห้าม ภาษีซื้อต้องห้ามบางประเภทนอกจากจะหักจากภาษีขายไม่ได้หรือขอคืนไม่ได้แล้วยังเป็นรายจ่ายต้องห้ามอีกด้วย เช่น ไทยถือว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มต้องห้าม ขณะเดียวกันประมวลรัษฎากรก็กำหนดให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาด้วยว่าภาษีซื้อที่ตนจ่ายไปนั้นจะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามรวมทั้งเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ เพื่อจะได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.
KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity. Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.