Thailand Tax Updates - 29 December 2016
Thailand Tax Updates - 29 December 2016
เทรนด์โลก: การป้องการการเลี่ยงภาษี
ตอนนี้ใกล้สิ้นปีเข้ามาแล้ว หลายๆ บริษัทเริ่มมีการประเมินผลการประกอบการในปีที่ผ่านมาและจัดทำแผนการดำเนินงานของปีใหม่ แน่นอนว่าแต่ละบริษัทมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจ และ กลุ่มเป้าหมายแต่ปัจจัยหนึ่งที่จะเกี่ยวข้องกับทุกกิจการคือเรื่องของภาษี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงใน ภาษีใหม่ๆ เพื่อขยายฐานภาษี หรือการแก้ไขกฎหมายภาษี
ไม่เฉพาะในประเทศไทย หากกิจการมีการลงทุนในประเทศอื่นๆก็ต้องติดตามดูกระแสของโลกว่าทิศทางภาษีจะไปในด้านใด ซึ่งประเด็นร้อนที่ติดเทรนด์ทั่วโลกตอนนี้คือ เรื่องมาตรการ การป้องกันการเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะของกิจการใหญ่ๆข้ามประเทศที่มักจะมีการวางแผนภาษีซึ่งอาจนำไปสู่การถ่ายโอนกำไรจากประเทศที่อัตราภาษีสูงไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรืออาจไม่เสียภาษีเลย ซึ่งกลุ่มประเทศใน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และ G 20 ได้ร่วมหารือกันเพื่อดำเนินการหามาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าหรือที่เรียกว่า BEPS ( Base Erosion and Profit Shifting ) ซึ่งแผนปฏิบัติการที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ตกลงร่วมกันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้ประเทศในกลุ่มนี้ต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่ตกลงกัน
วันนี้ขอยกมาสามเรื่องใหญ่ที่ควรพิจารณาโดยที่ผู้จะไปลงทุน หรือมีการลงทุนอยู่แล้วในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศดังกล่าว เรื่องแรก คือเรื่องของการใช้ investment holding structure หลายๆครั้งที่มีการลงทุนไปต่างประเทศกิจการอาจจะวางแผนโดยใช้ บริษัท holding ซึ่งก็มักจะเลือกจัดตั้งในประเทศที่จัดตั้งไม่ยากและไม่ต้องเสียภาษีสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ไปลงทุนในประเทศ อื่นๆ ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการพัฒนาไปสู่จุดที่ หลายๆประเทศ ต้องการให้มีกิจกรรมที่มากกว่า แค่การจัดตั้งบริษัทเพื่อมาถือหุ้น กล่าวคือ บริษัท holding ดังกล่าวจะต้องมี business substance ในประเทศนั้นด้วยไม่ใช่แค่บริษัทกระดาษ ( paper company ) การจะถือว่ามี business substance ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของต่างประเทศ บางประเทศ กำหนดให้มีกรรมการเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้น หรือ มีกิจกรรมที่อันถือได้ว่ามีการดำเนินธุรกิจในประเทศดังกล่าว ไม่ใช่จัดตังขึ้นมาเป็นบริษัทลอยๆ เพื่อใช้เป็นที่พักรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือว่าเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน หลายๆประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มักจะถูกใช้เป็น holding company เช่น เนเธอร์แลนด์ ก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่อง business substance อย่างเข้มงวดหากไม่เข้าเงื่อนไขก็อาจมีผลให้ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศโดยไม่ได้เข้าไปในรูปแบบที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นๆ เช่นอาจจะแค่ส่งพนักงานขายเข้าไปดำเนินการส่งเสริมการขายสินค้า เมื่อมีผู้สนใจในตัวสินค้าก็จะทำการขายโดยตรงจากไทยเป็นต้น กรณีที่เป็นประเด็นคือปัจจุบันหลายๆประเทศมีแนวโน้มที่จะถือว่าการเข้าไปดำเนินกิจการดังกล่าว ถือว่ากิจการมี สถานประกอบการถาวร ( permanent establishment ) ในประเทศนั้น เป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศที่ตนเข้าไปทำกิจกรรมแม้ว่าจะไม่ได้จัดตั้งในรูปนิติบุคคลในประเทศนั้นก็ตาม ซึ่งหลายๆประเทศให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะถือว่าควรจะมีภาษีให้แก่ประเทศที่กิจการเข้าไปประกอบการไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ซึ่งเรื่องนี้คลอบคลุมไปถึงการค้าขายในรูป digital หรือ e-commerce ซึ่งหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเองก็กำลังศึกษาว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีอย่างไรได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โลกของดิจิตอล ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของการค้าขายอย่างมากอีกทั้งยังเป็นการค้าที่ไร้พรมแดน กิจการสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้น ประเด็นในเรื่องของภาษีคือจะเสียภาษีอย่างไรและ ณ ที่ใด การซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการค้าในแบบ digital ที่สินค้าสามารถส่งผ่านกันแบบไร้พรมแดน โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเข้าไปจัดตั้งสำนักงานหรือดำเนินกิจการค้าขายหรือให้บริการในอีกประเทศหนึ่ง ทำให้มีคำถามว่าประเทศใดควรจะมีสิทธิเก็บภาษีจากการค้าไร้พรมแดนนี้ ก่อให้เกิดกระแสการทบทวนกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการของสมาชิก OECD ต่อการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าเช่นกัน ในปัจจุบันอนุสัญญาเพื่อการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการค้าในแบบ digital หรือ e –commerce ปัจจุบันได้มีการเสนอแนวทางที่จะปรับปรุง แก้ไขสนธิสัญญาภาษีซ้อนให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับการค้าในแบบ digital หรือ e-commerce จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในทิศทางใด
เรื่องสุดท้ายที่จะหยิบมาพูดถึงคือเรือง Transfer Pricing ซึ่งยังเป็นกระแสที่ร้อนแรงในเรื่องของรายการระหว่างประเทศระหว่างบริษัทในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไทยเองก็คาดว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับ transfer pricing เป็นการเฉพาะออกมาเร็วๆนี้และอาจจะมีผลบังคับในปีหน้าซึ่งสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งในปัจจุบัน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์มีกฎหมาย transfer pricing ใช้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว สำหรับประเทศในยุโรป และอเมริกา รวมถึงประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ล้วนแต่มีกฎหมาย transfer pricing ใช้มานานแล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังจะเพิ่มความเข้มข้นของกฎหมาย transfer pricing ขึ้นอย่างแน่นอน ข้างต้นเป็นแค่บางเรื่องที่เป็นเทรนด์โลก เท่านั้น ในปีหน้าเราอาจได้เห็นเรื่องใหม่ๆเพิ่มเข้ามา
© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.
KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity. Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.