Thailand Tax Updates - 19 May 2016

Thailand Tax Updates - 19 May 2016

การเปลี่ยนแปลงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในรอบ 25 ปี

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
การเปลี่ยนแปลงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในรอบ 25 ปี

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีข่าวดีว่ากรมสรรพากรได้ขยายระยะเวลาการใช้อัตราภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่ได้มีการลดลงและประกาศให้ใช้เป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่ปี 2556 และสิ้นสุดในปี 2558 ออกไปอีกหนึ่งปี กล่าวคือบัญชีอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลงจะยังคงใช้ในปี 2559 ต่อไปอีกหนึ่งปี   และต่อมาก็ได้มีข่าวดีเพิ่มขึ้นไปอีกในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยข้อเสนอรวมถึงการปรับปรุงค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนและปรับปรุงขั้นเงินได้ของบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

สาระสำคัญๆของการปรับปรุงในครั้งนี้คือการเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนโดย ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้และคู่สมรส จากเดิมคนละ 30,000 บาท เป็น คนละ 60,000 บาท และ ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาทโดยไม่จำกัดจำนวนบุตร แต่ได้ยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรที่เดิมให้หักล ดหย่อน 2,000 บาท/คน ดังนั้นคนที่มีบุตรที่กำลังศึกษาจะได้เพิ่มค่าลดหย่อน 13,000 บาทต่อคน  ในขณะที่คนมีบุตรที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนแต่บุตรไม่ได้กำลังศึกษาอยู่จะได้เพิ่ม 15,000 บาทต่อคน และข้อเสนอรวมถึงปรับปรุงขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  โดยแต่เดิมอัตราภาษีร้อยละ 30 ใช้กับขั้นเงินได้สุทธิที่มากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยขยายขั้นนี้ให้เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท

 

ดังนั้นเงินได้สุทธิที่จะเสียภาษีในอัตราสูงสุดคือร้อยละ 35 คือเงินได้สุทธิที่เกิน 5 ล้านบาท  ถ้าดูจากจำนวนเงินที่เพิ่มอาจจะรู้สึกว่าการปรับปรุงนั้นไม่ได้สูง แต่ที่ทำให้การการปรับปรุงครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับปรุงที่สำคัญเพราะเป็นการปรับปรุงค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในรอบ 25 ปีเลยทีเดียว ทั้งๆที่เรื่องนี้มีการเรียกร้องโดยทุกภาคส่วนมานานแล้วว่าจำนวนค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว  อย่างไรก็ดีแม้ตัวเลขจะยังคงดูน้อยเมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันแต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้ทั้งคนที่มีรายได้ทุกระดับตั้งแต่ระดับต่ำ ปานกลางและรายได้สูงต่างได้รับประโยชน์มากบ้างน้อยบ้างพอสมควร

 

กล่าวคือจำนวนค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นทำให้คนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยเฉพาะบุคคลโสดที่ไม่ต้องเสียภาษีหากมีเงินได้ไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือนก็ได้รับการขยายเพิ่มให้ไม่ต้องเสียภาษีหากมีเงินได้ไม่ถึง 26,000 บาทต่อเดือน  ในขณะที่ปัจจุบันอัตราเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เพราะฉะนั้นในปีหน้าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 26,000 บาทต่อเดือนซึ่งมีอยู่มากในตลาดแรงงานก็จะไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในขณะที่คนมีรายได้สูงแม้จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเป็น 100,000 บาทอาจไม่มาก แต่ก็ยังพอได้รับประโยชน์จากการขยายขั้นบันไดอัตราภาษีที่ทำให้ประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 4 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท

 

ถ้ามองอาเซียนหากเทียบอัตราภาษีในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดของไทยเท่ากับเวียดนามคือร้อยละ 35  ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะมีการร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งน่าจะส่งเสริมให้มีการปรับปรุง supply chain ส่งผลให้มีเคลื่อนย้ายแรงงาน แน่นอนว่าปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาคือต้นทุนแรงงานไทยถือว่าได้เปรียบในเรื่องค่าครองชีพที่จัดว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  และยังมีความสะดวกสบายในด้านการเดินทางเนื่องจากทำเลที่ตั้งของประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเชียน ถ้าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถแข่งขันได้แล้วก็จะเป็นตัวช่วยดึงดูดให้ไทยเป็นตัวเลือกในการตั้งฐานในประเทศไทยและโยกย้ายแรงงานชำนาญการซึ่งมักมีรายได้สูงเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นสำนักงานภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่  หรือ ฐานการผลิต  ซึ่งมีกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์อื่นๆรองรับอยู่แล้ว
เช่นการลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและ การผ่อนปรนข้อกำหนดในการจ้างแรงงานต่างชาติ เป็นต้น

ตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของประเทศในอาเซียน

ประเทศสมาชิก อัตราภาษีสูงสุด สำหรับเงินได้สุทธิเกิน 
บรูไน ไม่มี ไม่มี
กัมพูชา 20% 12.5  ล้าน เรียล
อินโดนีเซีย  25% 500 ล้าน รูเปีย
ลาว 24% 40 ล้าน กีบ
มาเลเซีย 26% 100,000 ริงกิต
พม่า 20% 20  ล้านจัค (เงินได้จากการจ้างแรงงาน)
ฟิลิปปินส์ 32% 500,000  เปโซ
สิงคโปร์ 20% 320,000  ดอลล่าร์สิงคโปร์
ไทย 35% 4 ล้านบาท (2559) 5 ล้านบาท (2560) 
เวียดนาม 35% 960 ล้านดอง  (เงินได้จากการจ้างแรงงาน )

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us