Thailand Tax Updates - 31 March 2016

Thailand Tax Updates - 31 March 2016

Doing Business ในอาเซียน

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
Asean

วัตถุประสงค์หนึ่งของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี ของประเทศสมาชิกอาเซียนก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศสมาชิกและการร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงลงทุนต่างชาติในภูมิภาคอื่นๆ เข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งประเทศสมาชิกได้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบภายใน โดยการอำนวยความสะดวกในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนจากต่างประเทศทั้งในและนอกอาเซียนเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น เมื่ออาเซียนเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาตินอกอาเซียน ความยากง่ายต่อการประกอบธุรกิจในประเทศสมาชิกก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

 

จากผลสำรวจ Doing Business 2016 ของ world bank จากจำนวน 189 ประเทศ ในเรื่องของประเทศที่ง่ายต่อการเข้าไปทำธุรกิจ (ease of doing business ) หากเทียบกับผลสำรวจปีที่แล้วโดยภาพรวมประเทศสมาชิกในอาเซียนมีทั้งที่คงเดิมคือ สิงคโปร์ ที่ยังคงรักษาแชมป์จากการจัดอันดับเป็นที่หนึ่ง และมาเลเซียเองยังคงรักษาลำดับ 18 ของทั้งหมดและอันดับสองของอาเซียน ประเทศสมาชิกที่ลำดับลดลงคือไทยจากเดิมลำดับ 26 ลดมาเป็นลำดับที่ 49 แต่ยังคงเป็นลำดับที่สามของประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่เวียดนามลำดับลดลงจากผลสำรวจปีที่แล้วคือลงจาก 78 เป็น 90 ในผลสำรวจล่าสุด และยังเสียอันดับที่สี่ของอาเซียน ให้แก่บรูไน ที่ได้รับการจัดอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วจากเดิม 101 ขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 84 โดยห้าประเทศสมาชิกที่เหลือลำดับในกลุ่มอาเซียนยังคงเดิมโดยมีลำดับโลกสูงขึ้น มีเพียงฟิลิปปินส์ที่อันดับลดลงจาก 95 เป็น 103

 

จากบทสรุปในผลสำรวจหลายๆ ประเทศมีการปรับปรุงในเรื่องของกฎระเบียบ และผ่อนคลายขั้นตอนในการจดทะเบียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจในประเทศ ประเทศในอาเซียนก็เช่น บรูไน กัมพูชา เมียนมาร์ มีการลดขั้นตอนการจดทะเบียน หรือ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีการลดระยะเวลาในการจดทะเบียนให้เร็วขึ้น  รวมถึงการมีการใช้ สื่ออิเล็คโทรนิคมาช่วยไม่ว่าจะเป็นการให้จดทะเบียนหรือการชำระภาษีทาง on line ก็มีเพิ่มมากขึ้น ในประเทศไทยเองหน่วยงานของรัฐก็มีการปรับปรุง ลดขั้นตอน รวมถึงการใช้สื่ออิเล็คโทรนิคเข้ามาช่วยในการยื่นแบบฟอร์มต่างๆ เช่น แบบนำส่งงบการเงิน หรือการจดทะเบียนต่างๆ ของกรมสรรพากรก็สามารถจดทาง on line ได้เกือบหมดแล้ว รวมถึงการเริ่มมีแบบแสดงรายการเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างชาติ การเปิดช่องทางการชำระภาษีให้มากขึ้น ล้วนแต่เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะทำให้เกิดความสะดวกและความชัดเจนขึ้น

 

อย่างไรก็ดีลำดับของไทยที่ลดจาก 26 เป็น 49 ก็ทำให้ต้องพิจารณาว่าอาจจะยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรืออาจจะช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทำให้แซงไทยขึ้นไปได้ นอกจากเรื่องกฎระเบียบขั้นตอนยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นักลงทุนพิจารณาความเหมาะสม ถ้าในด้านภาษีนอกจากการแข่งขันกันเรื่องการลดอัตราภาษี การสนับสนุนส่งเสริมกิจการใดๆ เป็นพิเศษโดยการลดหรือยกเว้นภาษีแล้ว จำนวนอนุสัญญาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน หรือที่เรามักจะเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญาภาษีซ้อน ที่แต่ละประเทศทำกับประเทศต่างๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกประเทศที่จะเข้ามาจัดตั้ง โดยเฉพาะการเลือกประเทศที่อาจใช้เป็นศูนย์กลางของบริษัทในกลุ่ม หรือ Holding company เพื่อไปลงทุนในประเทศอื่นๆ อนุสัญญาภาษีซ้อนจะมีความสำคัญมาก

 

อนุสัญญาภาษีซ้อนเป็นการทำสัญญาแบบทวิภาคี เพื่อขจัดภาษีซ้ำซ้อนของภาษีที่เก็บจากเงินได้ตัวเดียวกันที่กิจการอาจต้องเสียภาษีให้มากกว่าหนึ่งประเทศอันเนื่องมาจากหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีภายในของแต่ละประเทศ ถ้าดูเฉพาะในอาเซียนประเทศสมาชิกที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ ที่มีจำนวนสูงสุดสองอันดับในกลุ่มอาเซียนคือ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่งสอดคล้องกับอันดับประเทศที่ง่ายต่อการเข้าไปทำธุรกิจ โดยสิงคโปร์มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ จำนวน 76 ประเทศ มาเลเซียตามมาอันดับสองด้วยจำนวน 74 ประเทศ และมีอินโดนีเซียและเวียดนามตามมาที่จำนวน 62  และ 61 ตามลำดับ ในขณะที่ไทยมีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนจำนวน 60 ประเทศ ต่อด้วยฟิลิปปินส์ซึ่งได้ทำไว้กับ 39 ประเทศและ บรูไน 13 ประเทศ ส่วนลาวกับเมียนมาร์ยังต่ำกว่าสิบประเทศ ขณะที่กัมพูชายังไม่ได้ทำกับประเทศใดเลย

 

ทั้งนี้หนึ่งในมาตรการอำนวยสิทธิประโยชน์ตาม AEC Blueprint ในส่วนของมาตราภาษีจะเน้นให้ประเทศในอาเซียน เร่งจัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างกันให้ครบทุกประเทศ ในปัจจุบันมาเลเซีย กับ เวียดนาม เป็นประเทศที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนครบกับทุกประเทศสมาชิกหากไม่นับกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศใดเลย รองลงมาคือสิงคโปร์กับไทย โดยสิงคโปร์ยังไม่ได้ทำกับลาว ขณะที่ไทยยังไม่ได้ทำกับบรูไน  ในอนาคตแต่ละประเทศก็คงจะเร่งให้มีการเจรจาเพื่อให้มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบ รวมถึงการเพิ่มจำนวนอนุสัญญากับประเทศอื่นๆ นอกอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

อาเซียน : Ease of doing business (จาก 189 ประเทศ ) 

ลำดับ  ประเทศ
1 สิงคโปร์
18 มาเลเซีย 
49 ไทย
84 บรูไน
90 เวียดนาม
103 ฟิลิปปินส์
109 อินโดนีเซีย
127 กัมพูชา
134 ลาว
167 เมียนมาร์

ที่มา: Doing Business 2016, World bank  

 

จำนวนอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีกับประเทศต่างๆ

ลำดับ  ประเทศ จำนวนอนุสัญญาฯ
1 สิงคโปร์
76
2 มาเลเซีย  74
3 อินโดนีเซีย  62
4 เวียดนาม
61
5 ไทย 60
6 ฟิลิปปินส์ 39
7 บรูไน 13
8 ลาว 8
9 เมียนมาร์ 8
10 กัมพูชา 0

ที่มา: KPMG Asian Tax Guide 

 

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us