Thailand Tax Updates - 18 February 2016

Thailand Tax Updates - 18 February 2016

ภาระภาษีของผู้ถือหุ้นไทยจากเงินปันผลรับจากต่างประเทศ

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
Tax

หลังจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว  ระยะนี้จึงได้เห็นและได้ยินข่าวเกี่ยวกับนโยบายการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนในประเทศไทยเข้าไปในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเมียนมาที่ได้ ปัจจัยเกื้อหนุนมาจากสถานการณ์การเมืองที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว   การขยายกิจการออกไปต่างประเทศก็อาจเป็นในรูปของการเข้าไปลงทุนเองหรือหาพันธมิตรในประเทศนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมลงทุนโดยจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่หรือการเข้าไปซื้อกิจการในประเทศนั้นๆ โดยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม  เมื่อมีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่างประเทศผลตอบแทนที่ได้ในรูปเงินปันผลเมื่อผู้ถือหุ้นไทยได้รับก็อาจต้องเสียภาษีทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย  วันนี้จะเขียนถึงภาระภาษีจากเงินปันผลรับกรณีผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคลไทย กับ กรณีเป็นบุคคลธรรมดา  เมื่อบริษัทที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมีกำไรและจ่ายคืนผู้ถือหุ้นในรูปเงินปันผลบางประเทศกำหนดให้บริษัทผู้จ่ายเงินปันผลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย  ปัจจุบันประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีการกำหนดให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินปันผลนอกจากไทยก็มี ลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินโดนีเซีย โดยไทยมีอัตราต่ำสุดที่ร้อยละ 10 และอินโดนีเซียสูงสุดที่ร้อยละ 20 ทั้งนี้ภายใต้อนุสัญญาการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่อินโดนีเซียมีกับไทยอัตราของอินโดนีเซียจะลดเหลือร้อยละ 15   ประเทศที่เหลือห้าประเทศสมาชิกไม่มีการหักภาษีกรณีจ่ายเงินปันผลแต่อย่างไร  เรื่องนี้ก็อาจทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศสมาชิกอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ อยู่บ้างด้วยต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นของผู้ถือหุ้น  โดยเฉพาะประเทศซึ่งยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่รับจากต่างประเทศ  ในบางประเทศเงินปันผลจะไม่เสียภาษีภายในประเทศหากเป็นเงินปันผลที่ได้จากการลงทุนในต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย  กล่าวคือหากบริษัทสิงคโปร์ลงทุนในไทยมีรายได้เป็นเงินปันผลจากไทยจะถือเป็นเงินได้จากแหล่งนอกประเทศที่ไม่เสียภาษีเงินได้ในสิงคโปร์  แต่เนื่องจากไทยหักภาษีเงินปันผลในอัตราร้อยละ 10 ก็ทำให้อัตราภาษีดังกล่าวกลายเป็นต้นทุนของผู้ถือหุ้น  กลับมาที่กรณีนิติบุคคลไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ตามประมวลรัษฎากรไทย เงินปันผลซึ่งนิติบุคคลไทยได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศจะได้รับยกเว้นภาษีไทยหาก  (1) บริษัทถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทนั้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และ (2)  เงินปันผลต้องมาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศของบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล โดยอัตราภาษีดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศของบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลจะมีกฎหมายลดหรือยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือไม่ก็ตาม  ตัวอย่างเช่น ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคลไทยได้รับเงินปันผลจากบริษัทสิงคโปร์ที่มีรายได้จากการประกอบกิจการและเสียภาษีในสิงคโปร์ซึ่งมีอัตราภาษีเงินได้ที่ร้อยละ 17  เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นไทยได้รับจากสิงคโปร์ก็จะได้รับยกเว้นภาษีในประเทศไทยหากผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทไทยถือหุ้นมาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนได้รับเงินปันผล   อย่างไรก็ดีข้อยกเว้นนี้ไม่ใช้สำหรับกรณีเป็นการถือหุ้นทางอ้อม เช่นจากตัวอย่างเดิม  หากบริษัทสิงคโปร์ไม่ใช่บริษัทที่ประกอบกิจการแต่เป็น holding company  เมื่อสิงคโปร์ได้เงินปันผลจากต่างประเทศจึงไม่เสียภาษีในประเทศสิงคโปร์ และเมื่อส่งเงินปันผลนั้นให้แก่ผู้ถือหุ้นไทยในรูปการจ่ายเงินปันผลจากบริษัทสิงคโปร์  ซึ่งสิงคโปร์ไม่มีภาษีหัก ณ จ่ายกรณีจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นไทยควรจะได้รับเต็ม แต่ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทยจะต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีไทยในอัตราร้อยละ 20  ของกำไรสุทธิ  เพราะไม่เข้าเงื่อนไขการยกเว้น เพราะฉะนั้นหากจะใช้การลงทุนผ่าน holding company ในต่างประเทศควรต้องพิจารณาถึงประเทศที่จะเป็นที่ตั้งของ holding company ซึ่งจะมีผลไปถึงภาระภาษีของภาษีเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคตด้วย 

 

กรณีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องนำมารวมเสียภาษีไทยในอัตราปกติของบุคคลธรรมดาเว้นไว้เสียแต่ว่าผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาจะไม่นำเงินปันผลนั้นกลับเข้ามาประเทศไทยในปีที่มีรายได้ก็จะไม่เสียภาษีไทยเนื่องจากถือเป็นเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศซึ่งผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะเสียภาษีไทยก็ต่อเมื่อนำเงินได้จากแหล่งนอกประเทศไทยดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย

 

อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลของประเทศในอาเซียน

ประเทศสมาชิก อัตราภาษีเงินปันผล
บรูไน ไม่มี
กัมพูชา 14%
อินโดนีเซีย  20%/15% *
ลาว 10%
มาเลเซีย 0%
พม่า 0%
ฟิลิปปินส์ 15%
สิงคโปร์ 0%
ไทย 10%
เวียดนาม 0%

*20% ตามกฎหมายภายใน 15% ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us