Thailand Tax Updates - 21 January 2016
Thailand Tax Updates - 21 January 2016
ผลกระทบจากมาตรการป้องกันการเลี่ยงภาษีของ OECD และ G20
เมื่อ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้เข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว ในเรื่องของภาษีเหล่าประเทศสมาชิกได้มีการแข่งขันกันมากขึ้นทั้งโดยการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในภูมิภาค มีการแข่งขันกันส่งเสริมหรือให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการขาดรายได้ไปบางส่วน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตประเทศสมาชิกจะเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยภาษีบางส่วนที่ขาดหายไปจากการเร่งส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศของตน ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นประเด็นสำหรับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือ ประเทศไทยที่เป็นประเทศต้นๆของการเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ในตอนนี้ยังมีประเด็นร้อนติดเทรนทั่วโลกคือ เรื่องมาตรการ การป้องกันการเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะของกิจการใหญ่ๆข้ามประเทศที่มักจะมีการวางแผนภาษีซึ่งอาจนำไปสู่การถ่ายโอนกำไรจากประเทศที่อัตราภาษีสูงไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรืออาจไม่เสียภาษีเลย ซึ่งกลุ่มประเทศใน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และ G 20 ได้ร่วมหารือกันเพื่อดำเนินการหามาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าหรือที่เรียกว่า BEPS ( Base Erosion and Profit Shifting ) ซึ่งแผนปฏิบัติการ ( เรียกว่า OECD ‘s action plan ) ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ตกลงกันจะทำให้ประเทศในกลุ่มนี้ต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่ตกลงกัน แม้ว่าประเทศไทยและประเทศในอาเซียนไม่ได้เป็นสมาชิก OECD หรือ G20 (ยกเว้นอินโดนีเซียซึ่งอยู่ใน G20 ) แต่ก็ได้มีการติดตามแผนปฏิบัติการหรือ OECD’s action plan เพื่อพิจารณาทั้งในมุมที่มาตรการของประเทศอื่นอาจมีผลกระทบต่อประเทศของตนหรือมาตรการที่ประเทศของตนควรพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้ระบบภาษีของประเทศมีมาตรฐานสากลที่เป็นยอมรับจากนักลงทุนและประเทศผู้นำทั้งหลาย เรื่องนี้นำมาสู่ความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆในการปรับปรุงกฎหมาย ในอาเซียนเอง เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวที่เป็นสมาชิกใน G20 จึงเป็นประเทศที่เข้าร่วมในแผนปฎิบัติการอย่างเป็นสาระสำคัญและคาดว่าจะนำมาตราการที่เหมาะสมกับประเทศของตนมาใช้ ส่วนประเทศอื่นๆเช่นสิงคโปร์ ก็น่าจะปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่จะทำให้มาตราฐานของประเทศสอดคล้องตามหลักสากลทั่วไป ( international norms ) ในขณะที่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย อาจจะนำบางมาตรการบางส่วนมาปรับใช้ให้เป็นผลดีต่อประเทศ ส่วนประเทศที่ยังไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้คือ เมียนมา ลาว บรูไน และกัมพูชา หนึ่งในมาตราของ OECD’s action plan ที่เห็นได้ชัดว่ามีการเคลื่อนไหวในอาเซียนในปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ก็คือเรื่อง ราคาโอน ( transfer pricing ) ซึ่งไทยเองก็คาดว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับ transfer pricing เป็นการเฉพาะออกมาสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งในปัจจุบัน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์มีกฎหมาย transfer pricing ใช้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้มาตราภายใต้ OECD ‘s action plan ยังนำไปสู่การปรับปรุงอนุสัญญาภาษีซ้อนให้สอดคล้องกับกฎใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลให้จำต้องมีการเจรจากันใหม่
ในประเทศไทยก็คาดการณ์ได้ว่ากรมสรรพากรจะเข้มงวดในเรื่องของประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี การตรวจสอบภาษีและการขยายฐานภาษีซึ่งมาตราการที่ออกมาในเรื่องของการส่งเสริมการให้มีบัญชีเดียวของธุรกิจ SME โดยการออกมาตราการว่าจะไม่ตรวจภาษีย้อนหลังก็เป็นหนึ่งในความพยายามของการขยายฐานภาษี ในส่วนของการตรวจสอบภาษีเมื่อปลายเดือนธันวาคม กรมสรรพากรก็ได้มีนโยบายในเรื่องของการตรวจสอบภาษีที่เข้มขึ้น กล่าวคือ มีการนำหมายเรียกการตรวจสอบภาษีเข้ามาใช้ เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบโดยสามารถใช้กฎหมายมาบังคับได้ เพราะในช่วงราวๆห้าปีที่ผ่านมากรมสรรพกรจะเน้นการตรวจสอบในลักษณะการให้คำแนะนำโดยใช้หนังสือเชิญพบแทนการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี ซึ่งการตรวจสอบภายใต้หนังสือเชิญพบเจ้าหน้าที่จะแนะนำและขอความร่วมมือให้ผู้เสียภาษีไปชำระภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากการไม่ได้ปฎิบัติตามกฎหมายหรือการเข้าใจผิดในกฎหมายทำให้ชำระภาษีขาดหรือคลาดเคลื่อนได้ แต่เนื่องจากวิธีการนี้อาจทำให้การตรวจสอบล่าช้าโดยเฉพาะกรณีมีการโต้แย้งกันในเรื่องของการตีความกฎหมายที่ผู้เสียภาษีและกรมสรรพากรอาจจะเห็นไม่ตรงกัน และเมื่อหาข้อสรุปตรงกันไม่ได้ก็ทำให้การเจรจายืดเยื้อออกไป ซึ่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีการออกหมายเรียกให้แก่ผู้เสียภาษีจำนวนมากที่การตรวจสอบภายใต้หนังสือเชิญพบไม่สามารถปิดลงได้ สิ่งที่ผู้เสียภาษีควรทราบคือการถูกประเมินภาษีภายใต้หมายเรียกตรวจสอบภาษีจะทำให้ผู้เสียภาษีมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกล่าวคือนอกจากภาระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนแล้วยังมีภาระค่าปรับในอัตราสูงสุดไม่เกินหนึ่งเท่าของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเพิ่มเติมทั้งนี้การเสียภาษีตามคำแนะนำภายใต้หนังสือเชิญพบจะไม่มีภาระค่าปรับดังกล่าวเพราะเป็นการยื่นชำระภาษีเองโดยสมัครใจ ทั้งนี้เป็นที่คาดการณ์ว่ามาตรการการตรวจสอบภายใต้หมายเรียกจะถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยทราบมาว่ากรมสรรพากรเองก็มีการตั้งหน่วยงานที่จะดูแลการตรวจสอบภายใต้หมายเรียกเป็นการเฉพาะ
© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.
KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity. Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.